วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รู้จัก “นักกายภาพบำบัด” ดีรึยัง? มุมมองจากเด็กทุนจุฬาฯ-ชนบท

เห็นแว้บ ๆ อยู่ในข่าวช่อง 7 นึกว่าใคร ที่แท้ก็ “เด็กหน่วยฯ” ของเรานี่เอง
ถาม : แนะนำตัวหน่อย
ตอบ : ชื่อ กรรณิการ์ มาตราช ชื่อเล่น จิ้ม หรือจิ๋ม แล้วแต่ใครจะสะดวก พ่อแม่เป็นเกษตรกร จบ ม.6 ที่โรงเรียนอุ่มเหม้าประชาสรรค์ ต.อุ่มเหม้า อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นโรงเรียนประจำตำบล จบ ป.ตรี สาขากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนจุฬาฯ-ชนบท รุ่นที่ 24 ค่ะ
ถาม : ทำไมถึงเลือกเรียนสาขาวิชานี้
ตอบ : ต้องขอเล่าซะหน่อย ความฝัน ณ ตอนแรก อยากเป็นพยาบาล เพราะจะได้ดูแลช่วยเหลือคนป่วย ชุดก็สวยดี แต่พอช่วงปิดเทอม ม.5 ได้เข้ามาทำงานพิเศษที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่กรุงเทพฯ ได้มีโอกาสเห็นนักกายภาพบำบัดมาช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ศูนย์ฯ เลยเกิดความคิดใหม่ว่า ถ้าเป็นพยาบาล งานหนัก ต้องอยู่กับความเป็นความตายของคนขึ้นเวร เช้า บ่าย ดึก มาเป็นนักกายภาพบำบัดดีกว่า ช่วยเหลือคนไข้ได้เหมือนกัน อีกอย่าง คุณตาที่บ้านก็ชอบให้บีบนวดให้ ก็เลยตัดสินใจเรียนกายภาพบำบัดค่ะ
ถาม : คนส่วนใหญ่เข้าใจว่านักกายภาพบำบัดคือคนที่มีหน้าที่นวดทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วย
ตอบ : คนจะเข้าใจว่า นักกายภาพบำบัด คือหมอนวด โดยเฉพาะใน รพ.ต่างจังหวัด ทุกครั้งที่หมอส่งมา คนไข้ก็จะงง ๆ ….จะขอพูดถึง รพช.หรือโรงพยาบาลชุมชนที่ทำงานอยู่ก็แล้วกันนะคะ
งานของนักกายภาพบำบัดชุมชน จะมีหลักๆ 2 ส่วน คือ ส่วนของคลินิกกายภาพบำบัดในโรงพยาบาล และในส่วนของชุมชน
ในส่วนแรก ก็จะมีทั้งการดูแลผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ซึ่งก็ยังมีการแบ่งประเภทของผู้ป่วย เช่น ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ผู้ป่วยเด็ก นอกจากนี้ ยังมีการเข้าไปมีส่วนร่วมกับคลินิกต่างๆ ของโรงพยาบาล เช่น คลินิกเบาหวาน คลินิกโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง easy asthma &copd clinic เป็นต้น รวมถึงการทำงานร่วมกับทีมนำของโรงพยาบาล เช่น ความเสี่ยง เครื่องมือ ทีมชุมชน ทีมสหสาขาวิชาชีพ ทีมคลินิก เป็นต้น
ในส่วนของชุมชน นักกายภาพบำบัดชุมชน จะออกให้บริการเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชน โดยหลักๆ ที่ออกเยี่ยม ก็จะมี 1) ผู้พิการ ซึ่งจะเป็นผู้พิการทางกาย ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวเป็นหลัก ในกรณีที่มีความพิการทางด้านอื่น เช่น จิตเวช ก็จะมีพี่พยาบาลจิตเวชออกติดตามเยี่ยมเอง หรือผู้ป่วยบางรายก็มีนักกายภาพไปร่วมด้วย 2) กลุ่มผู้ป่วยผู้สูงอายุนอนติดบ้าน ติดเตียง 3) กลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือมีปัญหาโรคทางกายภาพบำบัด
ในกลุ่มที่เราเน้น คือผู้พิการ ก็จะได้รับการเยี่ยมประเมินทางกายภาพบำบัด หากรายใด มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ. ก็จะทำบัตรนัดให้คนไข้ รวมถึงประเมินการช่วยเหลือตนเองของผู้พิการ สามารถช่วยเหลือตนเองได้มากน้อยแค่ไหน หากมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เครื่องช่วย เราก็ต้องจัดหาให้คนไข้
การออกไปให้บริการในชุมชน เราจะมองให้ครบทุกมิติ คือ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ครอบครัว ชุมชน ฉะนั้น เราจะออกไปเป็นทีมสหวิชาชีพ และร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายในชุมชน เพื่อรับทราบปัญหา และแก้ไขปัญหาร่วมกันค่ะ
ถาม : ตอนนี้ทำงานอะไร ที่ไหน บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบมีอะไรบ้าง
ตอบ : ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเรณูนคร จังหวัดนครพนม งานกายภาพบำบัดขึ้นต่อกลุ่มงานเวชปฎิบัติครอบครัวและชุมชนอีกทอดหนึ่ง โดยมีนักกายภาพบำบัด 1 คน และผู้ช่วยเหลือคนไข้ 1 คนค่ะ หน้าที่ความรับผิดชอบนอกเหนือจากการเป็นนักกายภาพบำบัด คือ 1) เป็นคณะกรรมการทีมเครื่องมือประจำหน่วยงาน 2) คณะทำงานทีมคลินิก 3) คณะทำงานทีมชุมชนเชิงรุก 4) คณะทำงานทีมดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง(Home health care) 5) คณะทำงานทีมสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ 6) คณะทำงานทีมเสริมสร้างพลังกายพลังใจโรงพยาบาลเรณูนคร
ถาม : กว่าจะได้เป็นนักกายภาพ เรียนจบแล้ว ต้องทำยังไง
ตอบ : กว่าจะได้เป็นนักกายภาพบำบัด จะต้องเรียน 4 ปี เมื่อจบแล้ว จะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด ถึงจะทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดแบบเต็มตัวและถูกต้องตามกฎหมายค่ะ
ถาม : อยากฝากอะไรน้อง ๆ ที่เรียนกายภาพบำบัด
ตอบ : อยากฝากไว้ว่า ถ้าอยากเรียนกายภาพบำบัด ต้องใจรักจริงๆ เพราะถ้าจะพูดถึงค่าตอบแทนมันก็ไม่ได้มากมาย แล้วงานที่เราทำมันก็เยอะมาก คนในวิชาชีพเราก็ยังมีน้อย คนก็ยังเห็นความสำคัญน้อย สำหรับน้อง ๆ ที่เรียนอยู่ ก็ขอให้ตั้งใจเรียน จบออกมาถ้ารักงานนี้ รับรองว่าจะสนุกกับการทำงานมากๆ เลยล่ะ
พูดคุยกับ “จิ้ม” ได้ที่ เฟซบุ๊ก Kannikar Matar

ดูคลิปข่าวได้ที่ https://www.facebook.com/photo.php?v=603256046364549

ไม่มีความคิดเห็น: