หลังจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาปี 2559 ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองเกิดอาการหงุดหงิด วุ่นวาย ร้อนใจไปตาม ๆ กันว่า จะปรับอะไรกันอีกแล้ว ทำเอาเจ้าหน้าที่สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ต้องพลอยไม่เป็นอันทำงานตามไปด้วย เพราะต้องคอยรับโทรศัพท์อย่างไม่ขาดสาย เพื่อตอบคำถามและฟังเสียงบ่นจากทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง
คำถามส่วนใหญ่จะออกมาในทำนอง ’มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะยกเลิกระบบรับตรงแล้วใช่หรือไม่“ ’แอดมิชชั่นจะยังมีอยู่หรือไม่“ ’จะโดนหางเลขไปด้วยหรือเปล่า“ ’จะปรับอะไรกันอีก แค่นี้นักเรียนยังวุ่นวายไม่พออีกหรือ“... บลา บลา บลา
คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะมีคำถามและเสียงบ่นต่าง ๆ เพราะทุกครั้งที่จะมีการปรับเปลี่ยนอะไรก็ตามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ คิดว่าตัวเองอาจจะได้รับผลกระทบจะต้องขอโวยไว้ก่อน แต่ก็ต้องเห็นใจนักเรียน ผู้ปกครองเช่นกัน เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบตรงเผง ซึ่งถ้าไม่ทำตามก็อาจจะถูกตัดสิทธิเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ ขณะที่ ทปอ.เองก็ต้องยอมรับด้วยว่า มีส่วนทำให้เด็ก ๆ ต้องเดือดร้อนจากการปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด เพราะมีการปรับระบบการคัดเลือกตลอดเวลา มากบ้าง น้อยบ้าง พอนักเรียนเริ่มปรับตัวให้เข้ากับระบบได้ก็มีอันต้องปรับเปลี่ยนกันอีกแล้ว
เมื่อถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดเห็นจะเป็น นักเรียน และผู้ปกครองที่มีลูกหลานจะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในช่วงการปรับเปลี่ยนนั้น ๆ แม้แต่โรงเรียนก็น่าเป็นห่วงเช่นกันว่า มีความเข้าใจเกี่ยวกับมติของ ทปอ.มากน้อยเพียงใด และทราบหรือไม่ว่าปรับเปลี่ยนอะไรกันบ้าง ซึ่งแน่นอนความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปคนละทิศละทางเป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เรามาฟังคำชี้แจงจาก ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม ประธานคณะทำงานศึกษาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือ แอดมิชชั่นกลางของ ทปอ. และเป็นผู้เฝ้าติดตาม รวบรวมข้อดีข้อเสียระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอย่างใกล้ชิดมาตลอดว่า การปรับครั้งนี้เป็นอย่างไร และนักเรียนจะต้องเตรียมตัวอะไรกันบ้าง
ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ บอกว่า ปัญหาระบบการรับตรงของมหาวิทยาลัยมีมานานแล้ว และยังไม่สามารถแก้ไขได้ โดย ทปอ.ก็รับทราบดีว่า ระบบรับตรงทำให้นักเรียนและผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และยังมีปัญหาการวิ่งรอกสอบอีก ซึ่ง ทปอ.ก็มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะแก้ปัญหา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังทำไม่สำเร็จ กระทั่งล่าสุดมหาวิทยาลัยทั้ง 27 แห่งที่เป็นสมาชิก ทปอ. ได้มีมติที่จะคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระบบรับตรงร่วมกัน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป โดยหวังว่าวิธีการนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองได้ ลดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาการวิ่งรอกสอบของเด็ก และแก้ปัญหาการสละสิทธิหรือกันสิทธิผู้อื่นได้ในระดับหนึ่ง
ผศ.พงษ์อินทร์ บอกอีกว่า ระบบดังกล่าวจะเป็นการใช้ข้อสอบกลาง ซึ่งพัฒนามาจากข้อสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ ชีววิทยา ฟิสิกส์ และเคมี แล้วเพิ่มวิชาที่จะสอบอีก 2 วิชา คือ คณิตศาสตร์ 2 และ วิทยาศาสตร์ทั่วไป รวม 9 วิชา เพื่อรองรับนักเรียนที่จบสายศิลป์ด้วย ทั้งนี้ระบบการรับตรงร่วมกันดังกล่าว ไม่ได้ใช้เฉพาะคะแนนข้อสอบกลาง 9 วิชาเท่านั้น แต่คณะวิชาต่าง ๆ สามารถกำหนดองค์ประกอบในการคัดเลือกได้อย่างอิสระ ทั้งจำนวนวิชา ค่าน้ำหนัก คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต คะแนนทดสอบความถนัดทั่วไปหรือแกต และคะแนนทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือแพต เพื่อความหลากหลายของแต่ละสาขาวิชา โดย ทปอ.ก็ได้ช่วยขยับเวลาการทดสอบต่าง ๆ ให้ใกล้เคียงกันแล้ว ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงสามารถนำผลคะแนนจากการสอบต่าง ๆ มาใช้ประกอบการรับเด็กได้ตามต้องการ โดยเบื้องต้นได้มีการกำหนดไว้ว่า การสอบแกต/แพต ครั้งที่ 1 จะจัดในช่วงเดือนพฤศจิกายน สอบวิชาสามัญ 9 วิชา เดือนมกราคม และสอบแกต/แพต ครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม
“นักเรียนทุกคนไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา แต่สามารถเลือกสอบเฉพาะวิชาที่ต้องใช้ในการยื่นเข้าเรียนต่อในคณะ/สาขาที่ต้องการเท่านั้น ขณะที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็แอบมีความหวังว่า ระบบรับตรงร่วมกันนี้จะช่วยลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครองได้ เพราะนักเรียนจะสอบเพียงครั้งเดียว แต่สามารถนำคะแนนไปยื่นเข้าศึกษาต่อไปทั้งระบบการรับตรงและแอดมิชชั่นได้” ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ย้ำ
มาสรุปให้ตรงกันอีกครั้ง…ในปีการศึกษา 2559 การคัดเลือกนิสิต นักศึกษา เข้ามหาวิทยาลัยเป็นการปรับเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องประกาศให้นักเรียนทราบล่วงหน้า 3 ปี โดยจะมีระบบการจัดสอบรับตรงร่วมกันโดยใช้ข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ซึ่งนักเรียนสามารถนำคะแนนทั้งหมดไปใช้ยื่นในการรับตรงร่วมกันผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์ ของ สอท. หากนักเรียนได้ในคณะ/สาขาที่เลือกรับตรงแล้วแต่ยังไม่ต้องการ มีโอกาสไปประลองความสามารถในสนามแอดมิชชั่นได้อีก เพียงแต่ต้องไปสละสิทธิจากการรับตรงก่อน ส่วนระบบโควตาและโครงการพิเศษต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยยังเปิดโอกาสให้แก่ผู้มีความสามารถเหมือนเดิม
ถึงตรงนี้บางคนอาจยังมีข้อสงสัยว่า นักเรียนที่จะนำร่องใช้ระบบรับตรงร่วมกันในปี 2559 เป็นนักเรียนปีไหน ต้องบอกเลย คือ นักเรียนปัจจุบันที่กำลังเรียนอยู่ ในระดับชั้น ม.5 ซึ่งทุกคนต้องเตรียมตัวให้พร้อม และเริ่มวางแผนได้แล้วว่า จะจัดการกับตัวเองอย่างไร อย่ามัวแต่คิดว่า ปี 2557 ยังไม่ผ่านเลย ยังพอมีเวลา และเหลือเวลาอีกตั้งปีกว่า เพราะจริง ๆ แล้วนักเรียนที่ลงสนามแข่งขันครั้งนี้ จะต้องเริ่มสอบเก็บคะแนนต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อปี 2558 กันแล้ว สำหรับนักเรียนชั้น ม.6 ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2558 นั้น ยังคงใช้ระบบการคัดเลือกเดิม คือ ระบบโควตา ระบบรับตรง และระบบแอดมิชชั่น โดยแอดมิชั่นยังคงใช้ 4 องค์ประกอบและค่าน้ำหนักเท่าเดิม คือ คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือจีพีเอเอ็กซ์ 20% โอเน็ต 30% แกต 10-50% และแพต 0-40%
จากนี้ต้องรอดูว่า ระบบรับตรงร่วมกันจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองได้จริงหรือไม่ การหว่านสอบทุกวิชาจะยังมีอยู่อีกหรือไม่ และปัญหาการวิ่งรอกหรือกั้นสิทธิคนอื่นจะลดลงได้จริงอย่างที่ตั้งใจหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ระบบการคัดเลือกต่าง ๆ คงไม่สำคัญเท่ากับ ตัวนักเรียนต้องค้นหาตัวเองให้เจอก่อนว่าถนัดและชอบสิ่งใด จากนั้นประเมินศักยภาพของตัวเองว่ามีมากน้อยแค่ไหน และเลือกทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นตัวเองให้มากที่สุด.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น