ทัศนมาตรศาสตร์ คืออะไร
ตอนที่เขียนบันทึก นิทรรศการภาพถ่ายขาวดำอินฟราเรด “รากไทย” ตอนที่ (3) ได้อ่านประวัติของศิลปินเจ้าของผลงานที่ชื่อ คุณสมศักดิ์ พัฒนพิฑูรย์ และพบว่าคุณสมศักดิ์กำลังศึกษาอยู่ที่ สาขาทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ทัศนมาตรศาสตร์คืออะไร เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน จากนั้นจึงเข้า Google ไปค้นหา และได้ความมาจากสารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย ว่า...
ทัศนมาตรศาสตร์ (Optometry) เป็นสาขาวิชาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เริ่มก่อร่างขึ้นตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 13 จากกลุ่มของผู้ประกอบแว่นสายตาซึ่งในระยะเริ่มแรกมีลักษณะเป็นองค์กรทางการค้าและธุรกิจ การรวมตัวในลักษณะของผู้ประกอบวิชาชีพไม่ได้เกิดขึ้น จนกระทั่งประมาณปลายศตวรรษที่ 18 ที่เริ่มมีการรวมตัวและจัดระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของวิชาชีพนี้อย่างชัดเจน จนมีการจัดระบบขึ้นทะเบิยนบุคลากรในวิชาชีพนี้ในฐานะผู้ประกอบโรคศิลปะทั้งในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในประเทศที่พัฒนาแล้วบุคลากรในสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์ยังมีความสำคัญอย่างมากในการปฏิบัติงานทางด้านสาธารณสุขการแพทย์ในลักษณะหน่วยการแพทย์ปฐมภูมิ (Primary Health Care)
การใช้เครื่องมือทางทัศนมาตรศาสตร์หรือเครื่องมือวัดสายตา (Optical refractor) เพื่อประกอบแว่นสายตาในปัจจุบัน
สาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์เป็นสาขาวิชาประยุกต์ทางด้านคลินิกสายตาและระบบการเห็นที่มีการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และฟิสิกส์ด้านแสง-เลนส์สายตามาใช้ในการตรวจ วินิจฉัย และแก้ไขปัญหาของระบบการเห็นของมนุษย์ สาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์มี "ปริญญาทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต (Doctor of Optometry,O.D.)" เป็นปริญญาโดยตรงสำหรับผู้ประสงค์จะประกอบโรคศิลปะในสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์ซึ่งไม่ใช่ปริญญาที่มีคุณวุฒิทางการวิจัยเทียบเท่าปริญญาระดับดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Philosophy, Ph.D.) ตามปกติแล้วนักศึกษาต้องใช้เวลาในการศึกษาหลังจบการศึกษาชั้นมัธยมการศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรทัศนมาตรศาสตรบัณฑิตไม่น้อยกว่า 6 ปีการศึกษา หลังได้รับปริญญาทัศนมาตรศาสตรบัณฑิตแล้ว บุคลากรเหล่านี้ต้องผ่านการทดสอบขึ้นทะเบียนภายใต้กฎหมายการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะตามมาตรฐานที่คณะกรรมการประกอบโรคศิลปะในสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์เป็นผู้กำหนด ผู้ที่ได้รับปริญญาทัศนมาตรศาสตรบัณฑิตและผ่านการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะอย่างถูกต้อง เรียกว่า นักทัศนมาตรวิชาชีพ (Optometrist)
สภาทัศนมาตรศาสตร์โลก (World Council of Optometry) ได้ให้คำจำกัดความของการประกอบวิชาชีพทัศนมาตรศาสตร์ไว้ ดังนี้ "Optometry is a healthcare profession that is autonomous, educated, and regulated (licensed/registered), and optometrists are the primary healthcare practitioners of the eye and visual system who provide comprehensive eye and vision care, which includes refraction and dispensing, detection/diagnosis and management of disease in the eye, and the rehabilitation of conditions of the visual system."
นักทัศนมาตรวิชาชีพไม่ใช่จักษุแพทย์ ในความเป็นจริงแล้วนักทัศนมาตรวิชาชีพก็ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการประกอบแว่นสายตาเพียงอย่างเดียว แม้ว่าการประกอบแว่นสายตาจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาสายตา แต่โดยทั่วไปแล้วนักทัศนมาตรวิชาชีพจะฝึกบุคลากรหรือจ้างบุคลากรระดับช่างฝีมือในการทำงานด้านนี้โดยเฉพาะซึ่งที่รู้จักกันดี นั่นคือ ช่างประกอบแว่นสายตา (Optician) ทั้งนี้เพราะช่างประกอบแว่นสายตาทำงานกับแว่นสายตาและธุรกิจการจำหน่ายแว่นสายตาและอุปกรณ์ หลักการปฏิบัติงานตามปกติของช่างประกอบแว่นสายตาก็ไม่ได้จัดว่าเป็นการปฏิบัติงานกับมนุษย์โดยตรง อีกทั้งช่างประกอบแว่นสายตาก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสุขภาพด้านอื่นๆของผู้มาใช้บริการจึงไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบโรคศิลปะในการปฏิบัติงานซึ่งแตกต่างจากนักทัศนมาตรวิชาชีพที่มีการปฏิบัติงานโดยตรงกับมนุษย์และยังต้องคำนึงถึงความเป็นไปของระบบต่างๆในร่างกายผู้ป่วยด้วย เนื่องจากเหตุผลนี้เอง ลักษณะการปฏิบัติงานของช่างประกอบแว่นสายตาและนักทัศนมาตรวิชาชีพจึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
การเรียนการสอน
การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา สาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์ เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นระบบเมื่อประมาณ พ.ศ. 2415 ซึ่งดำเนินการเรียนการสอนและพัฒนาเรื่อยมาจนเป็น Illinois College of Optometry ใน สหรัฐอเมริกาเริ่มมีการประสิทธิ์ประสาทปริญญาเฉพาะของสาขาวิชานี้ เมื่อปี พ.ศ. 2432 ที่ Philadelphia Optical College [1]
สำหรับในประเทศไทย มี สถาบันอุดมศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนในสาขานี้ คือ สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หลักสูตรทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์ - Optometrist)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น