วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สังคมสงเคราะห์ เรียนไปทำไม ??



เอ???? จบม. 6 แล้วจะเรียนอะไรดีน้า จะเอนท์ติดที่ไหนเนี่ย คะแนนเราก็ไม่ค่อยจะดี กิจกรรมก็ชอบ ถ้าไปเรียนมหาลัยแล้วจะมีเวลาทำกิจกรรมรึป่าว อยากไปค่ายบำเพ็ญประโยชน์จัง เรียนจบแล้วจะมีงานทำมั้ย ฯลฯ นี่คงเป็นหลายคำถามที่น้องๆต้องการคำตอบที่ลงตัวที่สุด คงจะยากถ้าน้องๆอยากได้คณะในฝันที่มีครบทุกองค์ประกอบข้างต้น แต่พี่ก็มีคณะนึงมาแนะนำให้น้องๆได้รู้จักกันนะครับ นั่นก็คือ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ หลายคนอาจจะไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำว่ามีคณะนี้อยู่ด้วย แต่หลายคนอาจจะรู้จักกันเป็นอย่างดี และต้องการที่จะมาเรียนคณะนี้

ขึ้นต้นชื่อคณะว่า คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ แล้ว น้องๆคงคิดว่าอาชีพจบไปคงไม่พ้นพวกนักสังคมสงเคราะห์แหงมๆ ซึ่งถ้าน้องได้ศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดของวิชาเรียน และการประกอบอาชีพเมื่อเรียนจบแล้วคงเป็นคนละเรื่องกับที่น้องๆคิดอยู่เป็นแน่ ทีนี้เรามาดูชื่ออย่างเป็นทางการของคณะกันดีกว่านะครับ
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต
ชื่อหลักสูตร หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต(Bachelor of Social Work Program)
จุดมุ่งหมาย เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ทัศนคติ ทักษะของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในการเสริมสร้าง และพัฒนาศักยภาพของคน ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ระบบสวัสดิการ และการพัฒนาสังคม รวมทั้งสามารถทำงานร่วมกับนักวิชาการและนักวิชาชีพอื่นได้อย่างเหมาะสม

คำถามแรก คงไม่พ้นว่า จะเข้าเรียนคณะนี้ได้อย่างไรกันใช่มั้ยล่ะครับ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์นั้นแต่แรกเริ่มเดิมทีเป็นคณะที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆนั้นก็เริ่มเปิดแล้วเหมือนกัน แต่เป็นเพียงแค่ภาควิชาของคณะสังคมศาสตร์เท่านั้น ต่างกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯตั้งเป็นคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เลย ทีนี้พี่ขอกล่าวถึงแต่หลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นะครับ หวังว่าน้องๆคงไม่ว่ากัน
การเข้าเรียนมีอยู่ 2 วิธีนะครับ วิธีแรกก็คือ การสอบตรง โดยน้องๆต้องเสียเงินค่าสมัครสอบผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทยเสียก่อน ลักษณะข้อสอบก็เป็นข้อสอบข้อเขียนครับ จำพวกเรียงความ ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย เพราะ ทางมหาวิทยาลัยเค้าจะดูแนวคิดของน้องๆเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเกณฑ์การสมัครสอบนั้นไม่แน่ใจนะครับว่าต้องใช้GPAรึเปล่า แต่น้องๆควรได้คะแนนเอนท์รายวิชาขั้นต่ำวิชาละ 10% ของคะแนนเต็มทั้งหมด อีกทั้งเรายังเปิดการติวข้อสอบสอบตรงกลางเดือนตุลาคมของทุกปีอีกด้วย ซึ่งบรรยากาศการติวก็ไม่ซีเรียส ขำๆเฮฮาไปวันๆ ติวเช้าเย็นกลับ ไม่ต้องค้างคืน เพื่อความสะดวกของน้องๆที่อยู่ไกล ไม่สะดวกเรื่องที่พัก เห็นไหมครับว่าไม่ยากเลย
ส่วนอีกวิธีหนึ่งก็คือ การใช้คะแนนเอนท์ยื่นกับทางสกอ. ซึ่งน้องๆควรจะได้คะแนนเฉลี่ยรายวิชาอย่างน้อยซัก 50-55 คะแนนขึ้นไป วิชาที่ใช้คิดคะแนนเป็นหลักก็ได้แก่ วิชาภาษาไทย สังคม และภาษาอังกฤษ ส่วนอีกหนึ่งวิชาที่ใช้ก็ได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์กายภาพฯ คณิต 1 คณิต 2 ภาษาฝรั่งเศส ฯลฯ ซึ่งน้องๆส่วนใหญ่ก็มักจะได้คะแนนรายวิชาเฉลี่ยเกิน 50 อยู่แล้วหล่ะ พี่ก็คิดว่ามันไม่ยากเกินความสามารถของน้องๆอยู่แล้วแหละ ^^

อาวละ ทีนี้ก็มาถึงคำถามต่อไปซะที น้องๆหลายคนคงจะสงสัยว่าการเรียนการสอนของคณะนี้เป็นยังไง วิชาหลักๆของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์จะออกแนวจิตวิทยาเชิงประยุกต์ หรือเน้นการปฏิบัติซะมากนั่นเอง การเรียนก็เน้นการทำงานกลุ่มซะส่วนใหญ่ วิชาคณะเมื่อเทียบกับคณะอื่นก็ถือว่าไม่ยากมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะได้เกรดดีๆกันทั้งน้าน อาจารย์ในคณะก็ใจดี มักจะช่วยคะแนนให้พวกพี่ผ่าน F มาได้เสมอ เหอๆๆ -_-

ส่วนเรื่องการฝึกงานปกติแล้วคณะอื่นๆโดยทั่วไปจะฝึกงานกันแค่ 6 หน่วยกิตหรือฝึกงานตอนช่วงซัมเมอร์ปี 3 เท่านั้น แต่คณะนี้มีการฝึกงานถึง 15 หน่วยกิต ซึ่งก็คือ มีการฝึกงาน(ดูงาน)ระหว่างภาคเรียน ฝึกงานซัมเมอร์ปี 2 และปี 3 แล้วเราก็สามารถฝึกงานที่ไหนก็ได้แล้วแต่เราจะเลือก ซึ่งทางคณะจะมีสถานที่มาให้น้องๆเลือกกันอีกทีนึง ถ้าใครชอบเที่ยว อยากเห็น อยากทำอะไรแปลกๆใหม่ๆละก็ สามารถเลือกสถานที่การฝึกงานไปยังที่ไกลๆได้เช่น ฝึกงานกับชาวเขา ขึ้นดอย ล่องเหนือ ลงใต้ ตามแต่ใจน้องจะปรารถนา ส่วนถ้าใครไม่อยากไปไหนก็สามารถทำเรื่องฝึกงานแถวละแวกบ้านก็ได้ อันนี้ก็ไม่ว่ากันนะครับ

คำถามยอดฮิตสำหรับเด็กกิจกรรมตัวยง ถ้าหนู/ผม/เดี๊ยน/อิฉัน ได้ใช้ชีวิตในรั้วมหาลัยแล้วจะมีเวลาทำกิจกรรมมั้ย มันจะเบียดบังเวลาเรียนรึป่าว ก็ขอตอบเลยนะครับว่า มีเวลาทำแน่นอนครับ เนื่องจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์นั้นเรียนไม่หนักเมื่อเทียบกับคณะอื่นๆ เพราะจำนวนหน่วยกิตที่บังคับเรียนน้อย อีกทั้งวิชาเรียนก็ไม่ยากมาก น้องๆจึงมีเวลาทำกิจกรรมอย่างเหลือเฟือ จนน้องๆคณะอื่นอาจจะคิดว่าเด็กคณะนี้ไม่เป็นอันเรียนกันเหรอ มัวแต่ทำกิจกรรมกันอยู่ได้ และคณะนี้ก็มักจะมีการจัดค่ายไปกันเองค่อนข้างบ่อย เมื่อเทียบกับคณะอื่นแล้ว (เห็นมั้ย!!!ดีล่ะสิ) หรือถ้าใครเบื่อกิจกรรมคณะแล้วก็สามารถไปร่วมแจมกับกิจกรรมของคณะหรือชมรมอื่นได้อีก เพราะ ธรรมศาสตร์ให้เสรีภาพแก่คุณอย่างเต็มที่ในทุกเรื่อง ขอให้แค่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็เป็นพอ ~.~

คำถามต่อไปคงเป็นคำถามสุดฮิตที่ใครๆทุกคนคงนึกอยู่ในใจ ว่า ถ้าจบไปแล้วจะมีงานทำมั้ย อันนี้ก็คงต้องขอคอนเฟิร์มนะครับว่า จบไปแล้วมีงานทำแน่นอน ไม่เล็กน้อยถึงปานกลาง แต่มากถึงมากที่สุด เพราะ จะว่ากันตามตรงแล้วบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านสังคมสงเคราะห์ในเมืองไทยยังมีอยู่น้อย ทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ จบไปแล้วน้องๆอาจจะไปเป็นนักสังคมสงเคราะห์ก็ได้ แล้วถ้าไม่อยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ล่ะ จะได้มั้ย?

คำตอบก็คือ ได้ครับ เนื่องจากนักศึกษาที่จบจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์นั้นมีเพียงแค่ 20% เท่านั้นที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ แล้วอีก 80% ที่เหลือล่ะ หายไปไหนหมด พวกเขาไม่ได้หายไปไหนกันหรอกครับ เนื่องจากการเรียนการสอนของคณะเอื้อต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นก็หมายความว่าน้องๆสามารถนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้กับอาชีพอะไรก็ได้ที่น้องๆอยากจะทำ เช่น บางคนจบไปก็ทำงานตามบริษัทเอกชน ฝ่ายบุคคล บางบริษัทเค้าจะระบุมาว่าต้องการผู้ที่จบจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาทำงานโดยตรง บางครั้งเงินเดือนอาจจะเริ่มค่อนข้างสูง (ซักหมื่นอัพ) หรือทำงานตามมูลนิธิเอกชนต่างๆก็ได้ เงินดีแต่งานเหนื่อยนะขอบอก บางคนจบไปก็ไปเป็นแอร์โฮสเทรส บางคนจบไปก็ประกอบธุรกิจส่วนตัว บางคนจบไปก็เป็นอาจารย์ ฯลฯ เห็นมั้ยละครับว่า เรียนสังคมสงเคราะห์แล้วไม่จำเป็นที่จะต้องไปเป็นนักสังคมสงเคราะห์ก็ได้ แต่ถ้าน้องๆคนไหนมีอุดมการณ์แรงกล้า อยากจะทำงานเพื่อส่วนรวมจริงๆก็ได้ครับ
เวอร์รึป่าว มันมีด้วยเหรอ เรียนจบไปแล้วจะทำอาชีพอะไรก็ได้น่ะ ไม่เวอร์หรอกครับเพราะมันคือเรื่องจริง(ไม่อิงนิยาย) เพราะ การเรียนการสอนของคณะเราหลักๆแล้วก็คือ สอนการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข เข้าใจถึงสาเหตุของอารมณ์ต่างๆ และเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์เหล่านั้น สอนวิธีการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข
เข้าใจและสามารถปรับตัวกับผู้อื่นในสังคมได้ ถ้าจะว่ากันตามตรงแล้ว คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์นั้นเป็นคณะที่นักศึกษาเรียนจบแล้วมีงานทำเป็นคณะอันดับ 2 ของมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว
แต่ถ้าเราจะดูวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่เรียนแล้ว เราสามารถจำแนกวิชาโทภายในคณะออกได้เป็น 4 สาขาวิชานะครับ ดังนี้
1. การพัฒนาชุมชน
2. การบริหารงานกระบวนการยุติธรรม
3. สังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์
4. พัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว
เห็นมั้ยล่ะครับ ว่าคณะสังคมสงเคราะห์นั้นถึงแม้จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพในสายงานก็ยัง
ค่อนข้างกว้างอยู่ดี เพราะเราจะสามารถแยกออกอาชีพโดยรวมออกได้เป็น 4 ประเภท แล้วแต่ละประเภทก็ยังสามารถแยกย่อยลงไปอีกได้มากมาย ท้ายสุดก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคลว่าอยากจะทำงานแบบไหน แต่ถ้าใครคิดอยากจะทำงานที่ต่างประเทศก็ถือว่าเป็นความคิดที่ไม่เลวนะครับ เพราะ ในต่างประเทศคณะนี้ถือเป็นคณะที่บูมอย่างมากถ้าเทียบกับในเมืองไทย แน่นอน เงินก็ดีด้วยเช่นกันครับ
ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากๆ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์นั้นมีลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์อยู่อย่างหนึ่ง เมื่อใครดูแล้วก็ต้องรู้ว่าเป็นคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์แน่นอน นั่นก็คือ งิ้วสังคมสงเคราะห์ นั่นเอง งิ้วสังคมสงเคราะห์นั้นแตกต่างจากงิ้วที่เห็นตามงานทั่วไป งิ้วของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มีอีกชื่อหนึ่งว่า งิ้วล้อการเมือง ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอนั้นก็จะเป็นการสะท้อนถึงสภาพสังคม เสียดสีทางการเมือง การล้อคณะผู้บริหารของประเทศ ซึ่งการแสดงดังกล่าวต่างก็เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ชมจำนวนมาก และทีมงานงิ้วนั้นก็จะเปิดรับแต่เฉพาะคนในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เท่านั้น ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษอีกอย่างหนึ่งเลยทีเดียว ที่นักศึกษาคณะนี้พึงได้รับ และขอย้ำอีกครั้งว่า งิ้วสังคมสงเคราะห์นั้นแตกต่างกับงิ้วทั่วไปเอามากๆ และสนุกสนานมากทีเดียว ไม่แพ้การแสดงอื่นใดเลย
ที่น้องๆอ่านผ่านมาทั้งหมดนั้นอาจจะน่าเบื่อไปบ้าง แต่ก็มีสาระอย่างอัดแน่น อย่างไรก็ตาม พี่ก็ขอฝากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้ในหัวใจดวงน้อยๆของน้องๆทุกคนด้วยนะครับ ขอบคุณที่อุตส่าห์อ่านจนจบนะครับ
บทความโดย tofuzung@hotmail.com
จบแล้วทำอะไร ?
มีหลายคนถามว่าจบคณะนี้ไปจะทำงานอะไร จะมีงานทำหรือไม่
จากสถิติการมีงานทำของบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีล่าสุดคงจะสามารถตอบได้ว่า
บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์นั้นจบไปแล้วมีงานทำแน่นอน แต่มีหลายสาขางานที่สามารถสมัครเข้าทำงานได้
ซึ่งมีทั้งงานที่ตรงกับวุฒิ คือ นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ งานที่เกี่ยวข้องกับวุฒิ เช่น
พนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ งานอิสระ
โดยหน่วยงานที่รองรับผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีดังนี้
1. หน่วยงานภาคราชการ
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ)
- กระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม)
- กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม (โรงพยาบาลในสังกัด)
- กระทรวงสาธารณสุข (กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์)
- กระทรวงยุติธรรม (กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน)
- สำนักงานว่าการกรุงเทพมหานคร (สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักสวัสดิการสังคม)
- สำนักนายกรัฐมนตรี
- สถาบันวิจัยทางสังคม
- สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น
2. หน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจ
- การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย
- การประปาแห่งประเทศไทย
- การธนาคารแห่งประเทศไทย
- การบินไทย
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- องค์กรพัฒนาชุมเมือง (อพช.) เป็นต้น
3. หน่วยงานภาคเอกชน ในปัจจุบัน องค์กรต่างๆได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น ดังนั้น
จึงมีความต้องการบุคคลากรด้านสวัสดิการสังคมจำนวนมากเข้าไปปฏิบัติในงานบริหารบุคคลแรงงานสัมพันธ์และงานฝ
ึกอบรม หน่วยงานในภาคเอกชน เช่น
- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด
- บริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ เป็นต้น
4. องค์การพัฒนาเอกชน (NGOs) เช่น มูลนิธิเพื่อนหญิง สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เป็นต้น
5. องค์การระหว่างประเทศ เช่น UNICEF UNHCR UNIFEM เป็นต้น
*******************************************************************************
Link ที่เกี่ยวข้อง
มีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสังคมสงเคราะห์ สามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้
www.tu.ac.th/org/socadm คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.ncswt.or.th สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
www.m-society.go.th/ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
www.moph.go.th/ กระทรวงสาธารณสุข
www.mol.go.th/ กระทรวงแรงงาน
www.moj.go.th/ กระทรวงยุติธรรม
http://www.fti.or.th/สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
http://www.teacherplusfoundation.comมูลนิธิครูสร้างสรรค์
http://www.nhrc.or.thคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
http://www.tab.or.th/สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
www.friendsofwomen.net มูลนิธิเพื่อนหญิง
http://www.childprotection.or.thมูลนิธิคุ้มครองเด็ก
http://www.iamchild.orgมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
www.ffc.or.th มูลนิธิเด็ก
www.un.or.th United Nations Thailand
www.unicef.org The United Nations Children's Fund (UNICEF)
www.ilo.org International Labour Organization (ILO)
www.undp.or.th United Nations Development Programme (UNDP)
www.unhcr.org UN High Commissioner for Refugees (UNHCR)
unifem-eseasia.org UN Development Fund for Women (UNIFEM )

ไม่มีความคิดเห็น: