ทำไมต้องเรียนอินเตอร์?
หลังจากปัญหาน้ำท่วมได้ผ่านพ้นไป ช่วงนี้ก็เป็นช่วงเปิดเทอมใหม่ของน้องๆ นักเรียนทุกคนโดยเฉพาะน้องๆ ม.6 ที่ต่างหาที่เรียนต่อกันในระดับมหาวิทยาลัยอย่างขะมักเขม้น ซึ่งปัจจุบันนี้มีหลักสูตรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยทั้งทางภาครัฐและเอกชนเปิดกันเป็นจำนวนมาก โดยกระแสความนิยมของนักเรียนไทยปัจจุบันเน้นหลักสูตรอินเตอร์(หลักสูตรนานาชาติ) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบคือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมไทยซึ่งมีการแข่งขันสูงขึ้น ตลาดงานต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะภาษาอังกฤษถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการทำงานในโลกธุรกิจไร้พรมแดนปัจจุบัน ดังนั้นผู้ปกครองรวมถึงนักเรียนจึงสนใจที่จะเรียนในหลักสูตรอินเตอร์หรือหลักสูตรนานาชาติกันมากยิ่งขึ้น โดยตัวเลขสถิติของ OECD, British Council และ IDP Education Australia ชี้ว่าแนวโน้มนักเรียนในระดับอุดมศึกษาที่เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 2.12 ล้านคน ในปี 2546 เป็น 8 ล้านคน ในปี 2568 และมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เรียนหลักสูตรอินเตอร์ในประเทศไทย
อีกเหตุผลที่ทำให้การเรียนอินเตอร์ได้รับความนิยมมากขึ้น คือการเข้ามามีบทบาทของสมาคม ASEAN โดยมีแนวคิดว่าอาเซียนจะกลายเป็นเขตการผลิตเดียว ตลาดเดียว หรือที่เรียกว่า Single Market and Production Base ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาซึ่งมุ่งเน้นพัฒนาคนไทยให้มีศักยภาพรองรับการเข้ามาของอาเซียนในเรื่องของภาษาซึ่งกำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในประชาคมอาเซียน และบทบาทของประเทศไทยในด้านธุรกิจการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต ทั้งยังมีความร่วมมือกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เรียกว่า ASEAN + 3 และ ASEAN + 6 ที่รวมทั้งประเทศอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
แน่นอนว่าประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนต้องพร้อมรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการผลิต การค้า การทำงาน ซึ่งไม่มีพรมแดนมากั้นอีกต่อไป นั่นหมายความว่าแรงงานจากต่างประเทศสามารถเข้ามาทำงานได้อย่างเสรี รวมทั้งประเทศไทยที่สามารถไปทำงานในต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ไม่ยาก
ประเทศจีน เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จึงเป็นประเทศมหาอำนาจที่กำลังเป็นที่จับตามองว่าจะเป็นประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลกต่อไป ดังนั้น ภาษาจีน จึงกลายเป็นภาษาที่คนให้ความสนใจนอกจากภาษาอังกฤษซึ่งถือเป็นภาษาที่ทุกคนต้องพูดได้ นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่คนสนใจเรียนภาษาจีนกันมากยิ่งขึ้นไม่น้อยกว่าภาษาอังกฤษ และจึงเป็นเหตุผลที่หลักสูตรจีนศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เป็นอีกทางเลือกที่หลายคนให้ความสนใจ
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติและเป็นการระลึกถึงศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งองค์การยูเนสโก้ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญระดับนานาชาติ โดยวิทยาลัยมุ่งเน้นจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติในลักษณะผสมผสานสาขาวิชาต่างๆ โดยในปัจจุบันได้เปิดสอนในสองหลักสูตร คือ
หลักสูตรไทยศึกษา (Thai Studies Program) หลักสูตรประกาศนียบัตร 1 ปี โดยสอนวิชาภาษาไทย ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นที่นิยมของนักศึกษาชาวต่างชาติ
หลักสูตรจีนศึกษา (Chinese Studies Program) หลักสูตรนานาชาติ ปริญญาตรีศิลปศาสตร-บัณฑิต สาขาจีนศึกษา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ เป็นหลักสูตรที่ร่วมมือกับ School of International Studies แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) ประเทศจีน ดังนั้น นักศึกษาต้องไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษาโดยวิชาด้านจีนศึกษาหลายวิชาของวิทยาลัยตรงกับวิชาที่เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง อาทิ Global Political Economy in the 21st Century of China, Investment and Trade of China และ Chinese Overseas Society เป็นต้น ดังนั้นนักศึกษานอกจากจะได้รับประสบการณ์จริงในการใช้ชีวิตและศึกษาในประเทศจีน ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจีน นักศึกษายังสามารถโอนหน่วยกิตวิชาที่ลงทะเบียนกลับมาได้อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น