วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555
เรียนวิทยาศาสตร์ไปทำอะไร
คมชัดลึก : "เรียนวิทยาศาสตร์จบแล้วไปทำอะไร?" คือ คำถามยอดฮิตที่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง มักจะถามพอๆ กับคำกล่าวที่ว่า พัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นคำกล่าวที่มักจะได้ยินอยู่เสมอ
วันนี้ ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาสามาไขข้อข้องใจผ่าน "คมชัดลึก" ว่า จริงๆ แล้ว วิทยาศาสตร์นั้นมีความสำคัญกับประเทศมากน้อยเพียงใด
ศ.ดร.สุพจน์ อธิบายว่า ครอบครัว คือ หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม ดังนั้น หากต้องการสังคมโลกเป็นอย่างไร จะต้องเริ่มสร้างจากสังคมครอบครัว เช่นเดียวกันหากเราต้องการวัสดุที่มีสมบัติใดๆ เช่น นำไฟฟ้าได้ ทนการกัดกร่อนได้ ป้องกันไฟได้ ปลดปล่อยสารที่ต้องการได้ หยุดยั้งการทำงานของเชื้อโรคได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้อะตอม หรือโมเลกุล ซึ่งประกอบขึ้นจากอะตอม หรือเข้าใจลึกลงไปถึงพฤติกรรมของโปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน ที่ประกอบกันขึ้นเป็นอะตอม เพราะเป็นหน่วยที่เล็กและที่สำคัญที่สุดที่เป็นตัวกำหนดสมบัติ และการทำงานของอวัยวะและของวัตถุสิ่งของ ซึ่งคนที่รู้จักพวกนี้ก็คือนักวิทยาศาสตร์นั่นเอง
ดังนั้น ผู้ที่เรียนจบวิทยาศาสตร์แล้วจะไปเป็นครู-อาจารย์ รวมไปถึงการเข้าสู่อาชีพด้านบุคลากรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารงานด้านการศึกษาตามหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์: ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงที่ต้องใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ ทดสอบ และตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบการปนเปื้อน หรือตรวจสอบความเป็นพิษต่างๆ เพื่อการใช้ในประเทศและส่งออก เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
งานด้านพิสูจน์หลักฐาน: อีกงานที่ต้องการนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะนับวันคดีความต่างๆ จะมีความซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ลึกซึ้งมากขึ้น จะสามารถนำไปช่วยแก้ปัญหาด้านอาชญากรรมได้มากขึ้น ดังจะเห็นได้ในหลายๆ คดีว่า เก็บเส้นผมได้เส้นเดียว หรือเศษผิวหนังในเล็บมือได้ ก็สามารถคลี่คลายคดีได้ เป็นต้น
อาจารย์ในมหาวิทยาลัย: คณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น แพทย์ วิศวะ เภสัช ทันตะฯ รับอาจารย์ที่จบสาขาวิทยาศาสตร์เข้าทำงานมากขึ้น อีกแหล่งงาน คือ กลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎ ราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชน มีความต้องการอาจารย์ (ปริญญาเอก) ด้านวิทยาศาสตร์สูงมาก
นักวิจัยในสถาบันวิจัยชั้นสูง: ตัวอย่างเช่น นักวิจัยในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งปัจจุบันมีนักวิจัยที่จบทางด้านวิทยาศาสตร์กว่า 3,000 คน และเชื่อว่าในอนาคตจะมีสถาบันวิจัยลักษณะเช่นนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งภาคเอกชน: โรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างจะเป็นตลาดใหญ่ เพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นภาคการผลิตทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานด้านเกษตร อาหาร สิ่งทอ พลาสติก น้ำมัน อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ล้วนต้องการนักวิทยาศาสตร์เพื่อทำหน้าที่ดูแลคุณภาพ ดูแลสภาพแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งนี้ รวมถึงสถานพยาบาลต่างๆ ด้วย
"เพื่อแก้ปัญหาเด็กไทยอ่อนวิทย์ จึงได้จัดโครงการตลาดวิชาวิทยาศาสตร์ (Science for All) คณิตศาสตร์ แต่ละวิชาจะมีคณะทำงานเพื่อจำแนกและกำหนดเนื้อหาแต่ละหัวข้อย่อยวิชาละ 100 หัวข้อ โดยครอบคลุมเนื้อหา ม. ปลาย และปี 1 จากนั้นจะเสาะหาครู อาจารย์ นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มีทักษะการสอนวิทยาศาสตร์ เข้าใจเนื้อหาวิชามากกว่าการทำข้อสอบได้ มาจัดทำเป็นวิดีทัศน์การสอนลงระบบ online ภายใน 3 ปี ให้ครู นักเรียน เข้ามาอ่านได้ เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเด็กไทยอ่อนวิทย์ได้ในระดับหนึ่ง" ศ.ดร.สุพจน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อให้เกิดศูนย์วิจัย ศูนย์บริการ หรืออุตสาหรรมขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือเอกชนในระดับที่เป็นศูนย์กลาง (hub) ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก เช่น การตั้งโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ การจัดตั้งและลงทุนด้าน life science center หรือ health science center ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล
รวมทั้งการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา แต่ละโครงการฯ จะเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ที่ต้องการนักวิทยาศาสตร์โครงการละหลายพันหรือเป็นหมื่นคน และจะมีอุตสาหกรรมและการจ้างงานด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ถึงตรงนี้น้องๆ ที่กำลังจะแอดมิชชั่นส์คณะวิทยาสตร์คงมีคำตอบให้กับตัวเองแล้ว.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น