วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สี่ปัญหายอดฮิตเมื่อติดมหาวิทยาลัย


การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย หากรับรู้ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นก่อน จากนั้นจึงหาหนทางแก้ไขก่อนที่จะสายเกินแก้ ด้วยเหตุนี้ Life On Campus มีข้อเสนอดีๆ มาฝากถึง 4 ปัญหายอดฮิต ยอดนิยมที่เหล่าน้องใหม่มักจะประสบพบเจอ พร้อมกับแนวทางแก้ไขและวิธีการรับมือกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที
       
       เริ่มที่ ปัญหาที่ 1. "เรียนไม่รู้เรื่อง - จด Lecture ไม่ทัน"     
       
       เมื่อเปิดเทอมเข้าชั้นเรียน น้องๆ จะพบกับการเข้าห้องเรียนที่มีคนเป็นร้อยๆ คน เมื่ออาจารย์เข้ามาถึงก็บรรยายไปเรื่อยๆ บางคนพูดมากจนจดไม่ทัน แถมบางครั้งฟังแล้วยังไม่เข้าใจ จะถามก็ถามไม่ได้ และไม่กล้าถามด้วย เพราะอายเพื่อน อายคนอื่น หรือไม่ให้ถามเป็นการส่วนตัวก็ไม่กล้า เพราะยังไม่สนิทกับอาจารย์
       
       ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือ การยืมสมุดจดของเพื่อนที่เราคิดว่า อ่านแล้วเข้าใจที่สุดไปถ่ายเอกสาร แล้วนั่งทำความเข้าใจในสิ่งที่เรียนมา หรือปรึกษาพี่รหัสหรือพี่ๆ คนอื่นที่เคยผ่านวิชานั้นมาว่าจะอ่านเอกสารหรือตำราอะไรได้บ้างที่จะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น หรืออาจจะจับกลุ่มเพื่อนใหม่ติววิชาที่ไม่เข้าใจ
       
       ปัญหาที่ 2. "ไม่มีเพื่อน - เพื่อนไม่จริงใจ"
       
       ปีแรกของการเข้าเรียนไม่ว่าจะคณะใด สิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องๆ ส่วนใหญ่ คือการปรับตัวกับเพื่อนใหม่ เปรียบเสมือนก้อนกรวดมากมายที่อยู่ในตะแกรง ซึ่งต้องใช้เวลาในการค่อยๆ ร่อนตะแกรงจนเจอก้อนกรวดที่มีลักษะคล้ายคลึงกัน อาจจะต้องใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ หรือ อาจเป็นเดือน หรืออาจจะเป็นปีก็ว่าได้
       
       สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่ คือ เริ่มต้นด้วยการให้ผู้อื่นก่อน เช่น การยิ้มให้ก่อน ทักทายคนอื่นก่อน ชวนคนอื่นก่อน ฯลฯ อย่าให้คนอื่นเริ่มต้นก่อนแล้วเราถึงจะได้ เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่า เราต้องการอะไรและคิดอะไรอยู่
       
       อีกหนึ่งวิธี คือ อย่าเปรียบเทียบเพื่อนในมหาวิทยาลัยกับเพื่อนเก่าในโรงเรียน เพราะเปรียบเทียบกันไม่ได้ เวลาที่เราอยู่ร่วมกับเพื่อนในโรงเรียน เราใช้เวลาหลายปีกว่าจะสนิทกัน แต่เพื่อนในมหาวิทยาลัย เราต้องถามตัวเองว่า เราคบกันมากี่วัน กี่เดือน
       
       ปัญหาที่ 3. "ผิดหวังกับคณะที่เรียน - ไม่ชอบคณะที่เรียน"   
       
       เหตุผลการตัดสินใจเลือกคณะของน้องๆ นั้น จะมีสักกี่คนที่คิดแล้ว คิดเล่าจนสามารถตัดสินใจได้ว่า ตนเองจะเรียนอะไร ซึ่งส่วนใหญ่ที่เลือกเพราะ 1.) ตามเพื่อน 2.) คนเรียนเก่งแบบนี้ต้องเรียนคณะแบบนี้ 3.) พ่อ/แม่ ตัดสินในเลือกให้ 4.) ติดคณะอะไรก็ได้ขอให้มีที่เรียน
       
       พอน้องใหม่เจ้ามาสัมผัสจริงๆ แล้ว หลายคนผิดหวังและไม่ชอบคณะที่เรียน ส่งผลให้ไม่อยากเข้าเรียน ไม่อยากสุงสิงกับใคร เบื่อ ยิ่งมาเจอกับบรรยากาศการเรียนที่หนักและต้องรับผิดชอบดูแลตัวเองแล้ว ยังต้องปรับตัวกับสังคมใหม่ หลายคนที่ปรับตัวไม่ได้ ส่งผลให้การเรียนตกต่ำ ซึ่งเท่ากับว่าคะแนนซึ่งเป็นต้นทุนในปีแรกของเรานั้น ยังไม่ทันไรก็ขาดทุนเสียแล้ว
       
       วิธีการไขปัญหาคือ เวลาที่เราบอกว่า ไม่ชอบ เกลียด ผิดหวัง เรามักจะปิดประตูการรับรู้ด้านอื่นๆ เช่น เกลียดคณะ เราก็ไม่เปิดใจที่จะมองในมุมอื่นๆ เช่น คณะนี้มีสาขาวิชาอะไรที่เรายังพอจะสนใจและเรียนได้บ้าง ซึ่งการที่จะได้ข้อมูลเหล่านี้ได้นั้น น้องๆ อาจจะต้องหาข้อมูลจากการพูดคุยกับรุ่นพี่ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ฝ่ายนิสิต นักศึกษา สำหรับน้องๆ ที่ชัดเจนกับตนเองว่า ไม่ชอบคณะเรียนจริง ไม่ถนัดในวิชาของคณะ
       
       น้องๆ มีทางเลือกได้ 3 ทาง คือ 1.) ลาออก และไปตั้งหลักดูหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งอาจจะสอบได้หรือไม่ได้ หากสอบได้ น้องๆ ก็ได้สมใจในสิ่งที่ต้องการ หากสอบไม่ได้ น้องๆ ก็ต้องเคว้งคว้างไปอีก 1 ปี
       
       2.) เรียนวิชาในคณะไปด้วย พร้อมกับเตรียมตัวสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หากสอบได้ก็สละสิทธิ์ที่น้องเรียนอยู่ไปเรียนในคณะที่เราได้เลือกใหม่ หากสอบไม่ได้ อย่างน้อยน้องๆ ก็มีที่เรียน
       
       3.) เปิดใจให้กับคณะที่น้องๆ เรียนอยู่ โดยศึกษาหาข้อมูลว่า คณะที่เรีนอยู่นั้นมีศาสตร์หรือสาขาใดบ้างที่ตนสนใจและน่าเรียน
       
       สุดท้ายด้วยปัญหาที่ 4 "หลงระเริงกับกิจกรรม จนดูหนังสือสอบไม่ทัน"    
       
       เมื่อแรกเข้า สำหรับเฟรชชี่จะมีกิจกรรมมากมายที่ตื่นเต้น สนุกสนาน น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมปฐมนิเทศนิสิต นักศึกษาใหม่ กิจกรรมรับน้อง พี่รหัสน้องรหัส ประชุมเชียร์ กีฬาน้องใหม่ พิธีไหว้ครู พิธีพระราชทานปริญญาบัตร พอกิจกรรมซาลง การสอบมิดเทอมก็เริ่มต้น ทำให้อ่านหนังสือไม่ทัน ลนลานไปหมด บางครั้งเครียดจนไม่สบาย ทำข้อสอบได้ไม่ดี
       
       แนวทางการแก้ไขวิธีที่ง่ายที่สุด สำหรับปัญหานี้คือ 1.) ตรวจสอบว่า แต่ละวิชาที่ลงทะเบียนนั้น กำหนดสอบมิดเทอมเมื่อไหร่ จากนั้นวางแผนการดูหนังสือแต่เนิ่น ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการเรียน
       
       2.) แผนการทบทวนดูหนังสือนั้น น้องๆ จะต้องวางแผนอยู่บนความจริงๆ เท่าไร เช่น มีเวลาที่จะดูหนังสือจาก 3 ทุ่ม ถึง 5 ทุ่ม รวมเป็น 2 ชั่วโมง ดังนั้น หากน้องๆ ตั้งเป้าหมายว่า คืนนี้จะทำแบบฝึกหัด (สมมุติว่าเป็นวิชาฟิสิกส์) ให้ได้สัก 1 บท ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ย่อมเป็นไปไม่ได้ พอน้องๆ ทำตามเป้าหมายวางไว้ไม่ได้ น้องๆ ก็รู้สึกท้อถอยและรู้สึกว่าตนทำไม่ได้ แต่ถ้าน้องๆ ตั้งเป้าหมายว่า จะทำแบบฝึกหัดให้ได้สัก 3 ข้อ เพราะมันยากมาก พอน้องๆ ทำได้ก็จะเกิดกำลังใจทีจะเพิ่มจำนวนข้อในวันต่อไป
       
       3.) อย่าผัดวันประกันพรุ่ง บ่อยครั้งที่เรามักจะตามใจตัวเอง เช่น ค่อยดูอาทิตย์หน้าก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก ยังทัน แต่พอถึงเวลาจริงๆ มักจะทำไม่ได้ ทำให้รู้สึกลนและกลัว
       
       4.) จับกลุ่มทำแบบฝึกหัดหรือดูหนังสือกัน เพราะจะทำให้มีคนเตือนซึ่งกันและกัน แต่ต้องระวังว่า อย่าเพลินกับการคุยหรือเล่นจนเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
       
       5.) ทำไม่ได้ ไม่เข้าใจ ให้เข้าพบอาจารย์ที่สอน อย่ากลัวและอย่าคิดแทนอาจารย์ว่า อาจารย์เขายุ่ง คงไม่มีเวลาให้ลูกศิษย์ หากไปพบอาจารย์แล้วไม่เจอให้น้องๆ เขียนโน้ตถึง อาจารย์ผู้สอนเพื่อขอเวลาว่างอาจารย์เพื่อที่น้องจะสามารถมาพบและปรึกษาได้ น้องๆ ทราบไหมว่า บ่อยครั้งอาจารย์ก็แอบบ่นน้อยใจว่า ทำไมลูกศิษย์ไม่เคยมาถามเลย
       
       คำแนะนำเหล่านี้คงจะเป็นทางออกที่ดีให้สำหรับนิสิต นักศึกษาน้องใหม่ได้เป็นอย่างดี ** ขอบคุณคำแนะนำดีจาก รุ่นพี่นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

_________________
ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ

ไม่มีความคิดเห็น: