วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

หน่วยแพทย์พระราชทานฯ หนึ่งความฝันของ “หมอบูม” แพทย์จบใหม่รั้วจามจุรี


 "... นอกจากประสบการณ์ชีวิตในการออกหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ในครั้งนี้ ทำให้เรากลับมาคิดว่า ในบทบาทแพทย์คนหนึ่งหรือบุคคลากรในสายงานสาธารณสุขที่จะสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประชาชนในประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราได้บ้าง
       
       อีกหนึ่งประสบการณ์ชีวิตครั้งสำคัญ ของนายแพทย์หนุ่มรุ่นใหม่ “นพ.ปณต สายน้ำทิพย์” หรือ “หมอบูม” บัณฑิตใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการออกหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี หลังจากลงพื้นที่ออกหน่วยให้บริการตรวจรักษาเด็กนักเรียนและประชาชนในเขตโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน จังหวัดนครพนม เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
       
       ด้วยภารกิจหน้าที่ครั้งนี้ ทำให้ หมอบูม สัมผัสได้ถึงหน้าที่บทบาทหน้าที่ของหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ที่ต้องเดินทางเข้าช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารให้มีสุขภาพอนามัยและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และหลังจากที่หมอบูมเดินทางกลับจากการออกหน่วยแพทย์ เพื่อเตรียมตัวเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในฐานะบัณฑิตใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 3 กรกฏาคม นี้ Life On Campus จึงถือโอกาสนัดคุณหมอหนุ่มหล่อมาพูดคุยถึง เรื่องเรียน ชีวิตเด็กมหาวิทยาลัย รวมไปถึงบทบาทหน้าที่หน่วยแพทย์พระราชทานฯ ที่เจ้าตัวภาคภูมิใจที่สุด

       
       เลือกเรียนหมอ เพราะอยากดูแลคนรัก
       

       ย้อนกลับไปยัง จุดเริ่มของนายแพทย์หนุ่มรุ่นใหม่คนนี้ หลังจากรายชื่อของเขา “ปณต สายน้ำทิพย์” ได้กลายเป็นหนึ่งในเฟรชชี่น้องใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตามความฝันตั้งใจของตนเองและครอบครัว ที่อยากจะหมอรักษาคนไข้ และดูแลสุขภาพคนในครอบครัวอยู่เสมอ
       
       “จริงๆ แล้ว ตอนเด็กผมฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากเป็นนักวิจัย สร้างหุ่นยนต์เหมือนโดเรมอน ซึ่งมันเป็นความคิดเด็กมาก แต่พอเราโตขึ้น เริ่มเข้ามหาวิทยาลัยความคิดก็เปลี่ยน เริ่มอยากจะเป็นหมอ เพราะครอบครัวผมยังไม่มีใครเป็นหมอ จึงคิดว่าการมาเป็นหมอคนแรกในครอบครัวและได้ดูแลคนที่เรารัก ได้ดูแลคนในครอบครัว แถมได้เรียนวิทยาศาสตร์ที่เราชอบด้วย เพราะการเรียนหมอเป็นการเรียนรู้และเข้าใจการทำงานทุกอย่างของร่างกายมนุษย์ ซึ่งเราสามารถนำไปประยุกต์เพื่อรักษา ได้คิด ได้วิเคราะห์โรคต่างๆ ได้”

นิสิตแพทย์คนดัง ดีกรี “จุฬาคฑากร” งานบอล'66
       

       แน่นอนว่า นอกจากจะเรียนหนัก ทั้งเนื้อหา ทฤษฏีและการปฏิบัติในแบบนักศึกษาแพทย์แล้ว บูมก็ยังแบ่งเวลาทำกิจกรรมออกค่ายอาสา ดูแลสุขภาพของประชาชนทั่วไป รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นของมหาวิทยาลัย ในฐานะ “จุฬาฯคฑากร” หรือดรัมเมเยอร์ประจำงานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 66
       
       “การที่เรามาเรียนมหาวิทยาลัยแล้วมีกิจกรรมให้เลือกทำมากมาย สิ่งที่สำคัญนั่นคือ เราต้องไม่ทิ้งหน้าที่การศึกษาของเรา การแบ่งเวลาจึงสำคัญมาก ตอนซ้อมเราก็ทำเต็มที่ ตอนอ่านเราก็อ่านหนังสือเต็มที่เหมือนกัน มีที่ท้อบ้างเหนื่อยบ้าง แต่ผมคิดว่าทุกวินาทีที่ใช้ไป เป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีค่าที่จะหาที่ไหนไม่ได้นอกจากในรั้วมหาวิทยาลัยอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนคณะเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสา หรือทำหน้าที่ในตำแหน่ง จุฬาคฑากร ผมถือว่าชีวิตนิสิตมหาวิทยาลัยของผมคุ้มค่าแล้วครับ”
 ก้าวแรก … แพทย์จบใหม่
       

       หลังจากจบเรียนและสอบผ่านการสอบประเมินความรู้ความสามารถทางเวชกรรม จนได้ใบประกอบวิชาชีพจากแพทยสภาเป็นที่เรียบร้อย บูม ก็กลายแพทย์จบใหม่อย่างเต็มตัว โดยเริ่มต้นเข้าทำงาน ณ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งในปีแรกได้เริ่มต้นเรียนรู้งานในหน่วยแพทย์ใหญ่ๆ หรือเรียกภาษาทางการแพทย์ว่า แพทย์เพิ่มพูนทักษะ
   “แพทย์เพิ่มพูนทักษะ คือ แพทย์จบใหม่ที่ต้องผ่านการเรียนรู้งานในหน่วยแพทย์ทุกหน่วย เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในทุกสาขาวิชา ซึ่งตอนนี้ได้มาทำงานในหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เป็นเวลาสองเดือน ต้องปรับตัวจากนิสิตแพทย์ มาเป็นแพทย์ตัวจริง ที่ต้องตัดสินเองทุกอย่าง สั่งการรักษาเองทั้งหมด ต้องใช้ความมั่นใจกับประสบการณ์ที่สั่งสมตลอดการเรียนที่ผ่านมา แตกต่างมาก เพราะสมัยเป็นนิสิตแพทย์ จะมีพี่ๆ อาจารย์คอยให้คำแนะนำตลอด”
 ครั้งแรก … ออกหน่วยแพทย์พระราชทานฯ
      
       การออกหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มศว เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของแพทย์จบใหม่ อย่าง หมอบูม ที่นอกจะได้มีโอกาสออกเดินทางไปรักษาคนไข้ในถิ่นทรุกันดาร ห่างไกลความเจริญ และยังมีโอกาสได้ให้ความรู้ทางสาธารณสุขกับชาวบ้านอีกด้วย
   “สำหรับตัวผมแล้ว การออกหน่วยแพทย์พระราชทานฯ เป็นความฝันครั้งสำคัญที่จะได้ทำหน้าที่แพทย์ เพื่อใช้ความรู้ที่เรียนมาตรวจรักษาโรคได้อย่างเต็มที่ ซึ่งบางเคส ทำให้เราได้พบกับโรคที่ไม่ได้พบในตำราเรียนมาก่อน ถือเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตได้ดี นอกจากประสบการณ์ชีวิตแล้วยังได้มาทำประโยชน์ให้ชุมชนได้มาเข้าใจความเป็นอยู่ของวิถีชีวิตคนในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไป ทำให้เราได้กลับมาคิดว่าจะสามารถทำอะไรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นในประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราได้บ้าง ในบทบาทการเป็นแพทย์คนหนึ่ง หรือในบทบาทการเป็นบุคคลากรในสายงานสาธารณสุขที่จะสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประชาชนในประเทศนี้ต่อไป”
    ก้าวแรก … แพทย์จบใหม่
      
       หลังจากจบเรียนและสอบผ่านการสอบประเมินความรู้ความสามารถทางเวชกรรม จนได้ใบประกอบวิชาชีพจากแพทยสภาเป็นที่เรียบร้อย บูม ก็กลายแพทย์จบใหม่อย่างเต็มตัว โดยเริ่มต้นเข้าทำงาน ณ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งในปีแรกได้เริ่มต้นเรียนรู้งานในหน่วยแพทย์ใหญ่ๆ หรือเรียกภาษาทางการแพทย์ว่า แพทย์เพิ่มพูนทักษะ
 ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานสนองพระราชดำริฯ
      
       ท้ายนี้ หมอบูม ได้เอ่ยถึงความภาคภูมิใจที่สุดก็คือได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี รู้สึกอิ่มใจและตื้นตันใจที่ได้เห็นชาวบ้านและเด็กๆ แสดงสีหน้าท่าทางดีใจที่มีหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ไปให้บริการถึงในพื้นที่ ซึ่งเป็นภาพบรรยากาศการทำงานที่สร้างความประทับใจไปตลอดชีวิต และขอเป็นกำลังใจให้เราคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยกันพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้ดียิ่งขึ้นให้การรักษาเท่าเทียมและทั่วถึง
      
       “ผมคิดว่าสุขภาพที่ดีต้องเริ่มจากตัวเราก่อน การที่ผมได้เข้าหน่วยแพทย์ครั้งนี้ไม่เพียงไปรักษาอย่างเดียว แต่ได้ให้ความรู้กับชุมชนด้วย ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ ในการจะป้องกันโรคภัยต่างๆในอนาคต เราบุคคลกรสาธารณสุขเพียงคนเดียว อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากมาย แต่นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นความคิดดีๆที่จะต่อยอด ในระดับนโยบายของประเทศ ให้ก้าวหน้ายั่งยืนต่อไปครับ”

ไม่มีความคิดเห็น: