วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

จิตแพทย์ แนะวิธีปรับตัวในรั้วมหาวิทยาลัย

    พญ.อังคณา อัญญมณี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ เปิดเผยถึงข้อแนะนำการปรับตัวของนักเรียนมัธยมปลายในช่วงก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ว่า เด็ก ๆ ต้องยอมรับว่าการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยต่างจากการใช้ชีวิตในโรงเรียน ถือว่าเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ คิดว่าเป็นช่วงของการเรียนรู้ในหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่วิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้เรียนรู้ถึงกระบวนการทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นด้วย
“การเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นการเรียนที่มีลักษะกว้างขึ้น คือ ผู้เรียนต้องมีการศึกษาหาความรู้จากหลายแหล่ง ทั้งจากตำราในห้องสมุดหรือข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่รอฟังเพียงสิ่งที่อาจารย์สอนในห้องเท่านั้น เพราะจะได้ความรู้เพียงแง่มุมเดียว นอกจากนี้ ยังต้องเรียนแบบลึกขึ้น คือมีการวิเคราะห์ ตั้งคำถาม หาข้อมูลเปรียบเทียบ สังเคราะห์หาข้อสรุปเพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ใช่แค่อ่าน จำ แล้วนำไปตอบเหมือนสมัยมัธยม ดังนั้น จะต้องฝึกตัวเองให้มีความรับผิดชอบ มีความใฝ่รู้ มีการกำหนดเป้าหมาย การวางแผนและปฏิบัติตามแผนอย่างมีวินัย นอกจากนี้การฟังคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เคยมีประสบการณ์ตรง จะช่วยให้เราทราบแนวทางการเรียนและวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
สำหรับการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเพื่อนในสถานที่เรียนใหม่นั้น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แนะว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยอาจจะต้องมีการใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนมากขึ้น จากเดิมที่เคยเจอกันเพียงเวลาไปโรงเรียน แต่ตอนนี้อาจต้องอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเป็นรูมเมทหรืออยู่หอพักกินนอนด้วยกัน การกระทบกระทั่งอาจเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะแต่ละคนก็มีนิสัยและการใช้ชีวิตที่ต่างกัน สิ่งที่สำคัญจะต้องมีการเปิดใจเรียนรู้นิสัยของกันและกัน เพื่อจะเห็นทั้งข้อดีข้อเสียของเพื่อนและตัวเรา โดยการรับฟังและปรับปรุงข้อบกพร่องของตนเอง ชื่นชมและเลียนแบบสิ่งดีที่เพื่อนมีแต่ไม่จำเป็นต้องยอมรับและเลียนแบบสิ่งที่ไม่ดี 

หากเกิดความขัดแย้งกันขึ้นก็ควรพูดคุยหาทางออกโดยไม่ใช้อารมณ์ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสบายใจ ส่งผลให้เกิดความพร้อมในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เราควรรู้จักเลือกคบเพื่อน เพราะเพื่อนที่ดีมักจะพาเราเดินในทางที่มุ่งสู่ความสำเร็จ แต่เพื่อนไม่ดีอาจชักชวนเราให้หลงไปเดินทางที่มืดมนซึ่งจะนำไปสู่ความล้มเหลว เช่น เส้นทางยาเสพติด เส้นทางการติดเกม เส้นทางการพนัน และเส้นทางแห่งเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
พญ.อังคณา กล่าวอีกว่า การทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เช่น กิจกรรมชมรม ค่ายอาสาพัฒนา นักกีฬามหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการนักศึกษา เป็นต้น บางคนมองว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น จึงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นกับการเรียนเฉพาะในหลักสูตรเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านั้นจะทำให้เราพัฒนาหลายด้าน ทั้งด้านอารมณ์ซึ่งจะเกิดการผ่อนคลายและความสนุกสนาน พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฝึกการวางแผน การแก้ปัญหา การเปิดรับมุมมองของเพื่อนต่างคณะ ซึ่งจะช่วยให้เราเกิดความพร้อมเมื่อต้องทำงานจริง หลังจากเรียนจบแล้ว
นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาศักยภาพ ซึ่งเราอาจจะมีมากมาย แต่ยังไม่เคยค้นพบและรับการฝึกฝนมาก่อน การทำกิจกรรมยังช่วยให้เราใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์ อาจช่วยป้องกันไม่ให้เราสูญเสียเวลาไปกับการเล่นเกมหรือการใช้สารเสพติดได้
“เราควรทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการเรียน เลือกกิจกรรมที่เราสนใจหรือมีความชอบ โดยไม่จำเป็นต้องมีความถนัดหรือมีประสบการณ์มาก่อนก็ได้ ใช้เวลากับกิจกรรมอย่างเหมาะสม เพราะหากเผลอสนุกกับการทำกิจกรรมมากเกินไป อาจทำให้สอบตกได้เช่นกันและขอให้ทุกคนมีกำลังใจที่จะก้าวต่อไปจนถึงจุดหมาย แม้ว่าเราจะต้องปรับตัวปรับใจกับอะไรมากมายในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ที่แห่งนี้ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่รอให้เราได้เข้าไปเรียนรู้ และมีความสุขร่วมกัน” พญ.อังคณา อัญญมณี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: