สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประจำปีการศึกษา 2554-2555 (รุ่นที่ 38) ระหว่างวันที่ 4- 8 มีนาคม 2556 (คาบเช้าและคาบบ่าย) ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จำนวน 36,277 คน แยกเป็นปริญญากิตติมศักดิ์ 24 คน ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก 88 คน ปริญญาโท 18,683 คน ประกาศนียบัตรบัณฑิต 61 คน และปริญญาตรี 17,421 คน นายธน สรรพตานนท์ บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ เกียรตินิยมอันดับ 1 และกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการท่าอากาศยานระดับ 4 งานควบคุมลานจอดและจราจรภาคพื้น ส่วนบริการเขตการบิน ฝ่ายปฏิบัติการเขตการบิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ธน เล่าถึงการเรียนของเขาว่า ตนเลือกเข้ามาเรียนคณะวิทยาศาสตร์ที่รามคำแหง เพราะสนใจวิชาฟิสิกส์มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา แต่เรียนแผนกศิลป์-คำนวณ ทำให้เป็นอุปสรรคในการศึกษาต่อ ถือเป็นความโชคดีที่ว่า เมื่อมาสมัครเรียนที่รามคำแหงและได้รับการตอบรับให้เข้าเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์โดยไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใดๆ นี่ถือว่าเป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิเข้าศึกษาต่อโดยไม่จำกัดวุฒิ หรือพื้นหลังของการศึกษา “สมัยเรียนผมต้องทำงานไปด้วย ยอมรับเลยว่าต้องใช้ความขยันและความอดทนเป็นอย่างมาก เนื่องจากงานที่ทำเป็นงานเข้ากะ แน่นอนว่าจะมีบางวันที่ไม่สามารถมาเข้าชั้นเรียนได้ แต่ก็โชคดีที่ได้เพื่อนๆที่รามฯคอยให้คำบรรยายไปศึกษา พี่ๆที่ทำงานคอยเปลี่ยนเวรให้ และต้องอาศัยทักษะการแบ่งเวลาซึ่งก็หนักเอาการอยู่เหมือนกันแต่ผมต้องการสานฝันที่สมัย ม.ปลาย ไม่เคยได้เรียนฟิสิกส์ คราวนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะรีบทำความฝันนั้นให้เป็นจริงอีกครั้ง" นอกจากนี้ ธนยังเชื่อว่าความอุตสาหะพยายาม ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ “มีคำกล่าวที่ผมแอบจำจากปกสมุดคำบรรยายของเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะยังใช้ได้อยู่นั่นคือ “แม้เส้นทางสู่ความสำเร็จจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ด้วยความมุมานะพยายามจะเป็นแรงผลักดันให้ไปสู่เป้าหมาย ซึ่ง ณ จุดนั้นจะมีรางวัลควรค่าแก่ความสำเร็จรอคอยคุณอยู่” จากนั้นมาฟังเทคนิคการเรียนของบัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรามคำแหง เกียรตินิยมอันดับ 1 อย่าง “นางสาวเพ็ญหทัย อจละนันท์” ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่Thai Foods Products International Co.,Ltd. บัณฑิตเพ็ญหทัย บอกถึงชีวิตวัยเรียนว่า ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ ตนมีเวลาเรียนอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนได้ ถ้าเป็นช่วงการเรียนปกติ จะอ่านหนังสือในหัวข้อหรือเรื่องที่จะเรียนในวันพรุ่งนี้ไว้ล่วงหน้า เพื่อที่เวลาเรียนจะได้เข้าใจง่ายขึ้น และเมื่อเรียนเสร็จในเรื่องนั้นๆก็จะกลับมาอ่านหนังสือทวนอีกสัก 1 รอบ เพื่อให้เข้าใจในเนื้อหาหรือรายละเอียดยิ่งขึ้น ฝึกทำแบบฝึกหัดและการบ้านบ่อยๆ “ช่วงเวลาสอบจะอ่านหนังสือเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์ในแต่ละวิชาจะอ่านมากกว่า 1 รอบ ซึ่งรอบแรกจะเป็นการอ่านแบบผ่านตาเพื่อให้รู้ว่าเรื่องที่ต้องรู้และเข้าใจนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง พอรอบต่อมาก็จะเริ่มทำความเข้าใจในเนื้อหาให้มากขึ้น หลังจากนั้นรอบต่อๆมาก็จะเริ่มตั้งคำถามในแต่ละหัวข้อเรื่องว่า ทำไมต้องเป็นอย่างนี้หรือเป็นอย่างนั้น และฝึกทำแบบฝึกหัดในหนังสือเรียนบ่อยๆ” เพ็ญหทัย บอกว่า จากนี้ไปตนวางแผนชีวิตไว้ว่าจะศึกษาต่อ ซึ่งในระหว่างที่รอหาสถานศึกษาเพื่อเรียนต่อ ก็ได้นำความรู้ที่ได้รับจากรามคำแหง จากสาขาวิชาที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยได้นำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาและวิจัยอาหาร เพื่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆออกสู่ตลาด รวมทั้งปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม ที่มีอยู่ให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นไป "บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม การเรียนจบจากรามคำแหงจะเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงคุณสมบัติในตนเอง รวมทั้งบัณฑิตท่านอื่นๆด้วยว่า เราไม่ได้เป็นแค่บัณฑิตที่มีเพียงความรู้ความสามารถเท่านั้น แต่ยังบอกได้ด้วยว่า เราเป็นคนที่มีความขยันและอดทนที่มากในระดับหนึ่ง ซึ่งมากพอที่จะทำให้เราเรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เรียนจบกันง่ายๆได้” ปิดท้ายที่ นางสาวอิสรีย์ เพิ่มทันจิตต์ บัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาฝรั่งเศส เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (GPA 3.93) เล่าถึงชีวิตในวัยเรียนว่า ช่วงเวลาของกาเรียนที่นี้ได้ทุ่มเทกับการเรียนอย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรกว่า จะเรียนจบให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ นั่นคือภายในเวลาสองปีครึ่ง จึงมีการวางแผนการเรียนไว้ล่วงหน้าเป็นปีๆ โดยแต่ละเทอมจะเลือกรายวิชาทั้งวิชาเอกและโทให้สอดคล้องตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้ ในเทอมปกติจะลง 24 หน่วยกิต และภาคฤดูร้อนลง 12 หน่วยกิต “สิ่งที่ได้รับจากการเรียนที่รามคำแหง ทำให้มีระบบความคิดและการทำงานที่เป็นระเบียบแบบแผน โดยเฉพาะการทบทวนความรู้นอกห้องเรียนด้วยตนเองตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ ทำให้มีความรับผิดชอบมากขึ้นและยังกระตุ้นให้มีการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม จนทำให้เกิดความรอบรู้ในเรื่องนั้นๆ” อิสรีย์ บอกถึงการเรียนของเขาว่า เลือกลงเรียนหลายวิชาในแต่ละเทอมทำให้ต้องจัดสรรเวลาเป็นอย่างดี ปกติแล้วจะอ่านหนังสือทุกวิชาทั้งหมดสามถึงสี่รอบ การอ่านรอบแรกกำหนดไว้ภายในช่วงเดือนแรกของภาคเรียน โดยจะอ่านทุกหน้าและเน้นส่วนที่สำคัญไว้ด้วยปากกาหลากสี เหมือนเป็นการทำความรู้จักหนังสือเล่มนั้นหรือวิชานั้นๆให้ดีขึ้น ซึ่งทำให้เราเข้าใจบทเรียนที่อาจารย์สอนได้ดีขึ้น หากเป็นวิชาภาษาต่างประเทศ จะมีการหาความหมายของศัพท์หรือสำนวนต่างๆไว้ก่อนเข้าเรียนทุกครั้ง “ก่อนสอบหนึ่งเดือนก็จะอ่านรอบที่สองเพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจ โดยทำตารางอ่านหนังสือไว้ซึ่งมักจะกินเวลาเป็นเดือน บางครั้งก็เครียดบ้างเพราะอ่านหนังสืออยู่ที่บ้านตลอด แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดีพร้อมผลลัพธ์ที่ดีทุกครั้ง และพอใกล้ถึงวันสอบจะอ่านทวน จนแน่ใจว่ามีความรู้เพียงพอที่จะเข้าห้องสอบด้วยความพร้อมเต็มที" บัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์ บอกทิ้งท้ายว่า ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ได้ให้แค่ทักษะความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต แต่ยังเป็นการเปิดโลกกว้างทางทัศนคติและจิตใจให้ดิฉัน จากที่ได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้คนหลากหลายประสบการณ์ และสิ่งเหล่านี้เองที่นับว่าเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นจากที่ดิฉันได้สำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงแห่งนี้ ปิดท้ายด้วยภาพสีสันของบัณฑิตใหม่ป้ายแดง ลูกพ่อขุน รุ่นที่ 38 สำหรับบรรยากาศเต็มไปด้วยรอยยิ้มของบัณฑิตและครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายที่มาร่วมแสดงความยินดี ..ติดตามชมภาพบรรยากาศ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ม.รามคำแหง ได้ที่นี่ |
วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556
ชื่นมื่น"บัณฑิตใหม่ป้ายแดง" ลูกพ่อขุน ม.ราม รุ่น 38
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น