วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

มึนตึ๊บ!, รับไม่ได้!, ขั้นโคม่า!, ดิ่งเหว! เสียงสะท้อนผลสอบ GAT-PAT ครั้งที่ 2

สทศ.เตรียมแถลงเปิดค่าสถิติพร้อมชี้แจงข้อสงสัย วันที่ 28 มี.ค. ขณะที่ นร.บ่นอุบผ่านเว็บไซต์ชื่อดัง ผลสอบอาการโคม่า และไม่มั่นใจระบบการตรวจ ด้าน"สมพงษ์" ชี้นักเรียนรุ่นนี้มีวิบากกรรม สอบเกือบทุกอาทิตย์ เรียนเกือบทุกวัน แนะรัฐบาลลงมาดูแลช่วงเลื่อนชั้น ม.6-อุดมศึกษา
     วันที่ 27 มี.ค.55 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้เริ่มประกาศผลการการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และผลการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ครั้งที่ 2/2555 แล้ว ซึ่งเป็นการประการผลสอบเร็วขึ้นจากกำหนดเดิมที่จะประกาศในวันที่ 10 เม.ย. โดยผู้เข้าสอบสามารถตรวจผลสอบ GAT-PAT ครั้งที่ 2 ได้ที่เว็บไซต์ของ สทศ. www.niets.or.th เป็นต้นไป
     ทั้งนี้ การประกาศผลสอบดังกล่าวได้ทำให้นักเรียนที่เข้าสอบ หรือนักเรียนชั้น ม.6 ได้ตั้งกระทู้วิพากษ์วิจารณ์ถึงผลการสอบในเว็บไซต์สังคมเยาวชนชื่อดัง โดยประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุด คือ รับไม่ได้กับผลสอบ GAT-PAT ครั้งที่ 2 เพราะมีภาพคะแนนแต่ละวิชาตกต่ำกว่าการสอบครั้งแรก การเรียกร้องให้ สทศ.ตรวจข้อสอบใหม่ การเฉลยข้อสอบ
     โดยตัวอย่างความเห็นของผู้เข้าสอบมีดังนี้ “จากที่อ่านหลายๆความเห็นที่บอกว่าตรวจผิด ตนก็สงสัยว่า สทศ.ตรวจข้อสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ไม่ใช่หรือ ตนจึงงงว่า สทศ.จะตรวจผิดในกรณีใด แต่คะแนนตนเองก็ลดลงอย่างน่าใจหายเหมือนกัน อย่างพาทเชื่อมโยงจากสอบครั้งแรกได้ 140 เหลือแค่ 70 คือครึ่งต่อครึ่ง แต่ยังไงเราก็หาเหตุผลที่เขาจะตรวจผิดไม่ได้เลย หรือ สทศ.เอาโปรแกรมตรวจข้อสอบครั้งอื่นมาตรวจเหรอ ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริงก็ห่วยบรมแล้วอย่าจัดสอบเลย, ตนได้ตรวจคำตอบกับคนที่ได้เต็ม พบว่าผิดสามข้อ แต่ตนได้ 21 คะแนน ตอนทำก็เช็คแล้วเช็คอีกว่าฝนถูกไหม คำตอบตนก็จดออกมา ดังนั้นรวมตัวกันไปร้องเรียนเหอะ ไม่ไหวนะ อนาคตเราขึ้นอยู่กับองค์กรห่วยๆแบบนี้หรอ” ความเห็นผู้เข้าสอบจากเว็บไซต์
     ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เวลา 11.00 น. สทศ.จะจัดแถลงข่าวหลังการประกาศผลสอบทั้ง GAT-PAT ครั้งที่ 2 และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดยจะมีการสรุปผลการสอบ รวมทั้งแสดงผลการวิเคราะห์ค่าสถิติ เพื่ออธิบายให้ประชาชนให้เข้าใจอย่างถูกต้อง และตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับค่าสถิติต่างๆ ด้วย
     ด้าน นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปีนี้ เป็นปีแห่งวิบากกรรมของนักเรียนชั้น ม.6 ที่ต้องสอบเกือบทุกอาทิตย์ และเรียนหนักเกือบทุกวัน ทำให้นักเรียนไม่มีเวลาพักผ่อน และอาจดูว่าไปละเมิดสิทธิ์เด็ก ดังนั้นปรากฏการณ์ผลสอบตกต่ำคงจะไปโทษนักเรียนไม่ได้ และแต่ละหน่วยงานการศึกษาคงต้องพิจารณาตัวเองว่า ทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพหรือยัง ทั้งนี้ อยากฝากหน่วยงานการศึกษาทุกระดับ ที่ประชุมการศึกษาต่างๆ ว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ก็อย่ามัวแต่โทษกันไปโทษกันมาเพราะท้ายที่สุดปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ไข อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่ประกาศผลสอบ สทศ.ก็จะอ้างว่าออกข้อสอบตรงตามมาตรฐานหลักสูตรที่นักเรียนได้เรียนมา แต่เมื่อมาดูเทคนิคและวิธีการออกข้อสอบแล้ว กลับพบว่าข้อสอบยากเกินความสามารถของเด็กนักเรียน
     เท่าที่ผมติดตามปัญหามาตลอด พบว่าการออกข้อสอบระดับชาติของ สทศ.ไม่มีมาตรฐาน เพราะไม่ได้สะท้อนความรู้ของนักเรียนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะนักเรียนชนบทที่มีความรู้ต่ำกว่านักเรียนในเมืองด้วยปัจจัยต่างๆ ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่ไม่สามารถทำข้อสอบมาตรฐานสูงของ สทศ.ได้ จนเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งนี้ คงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะลงมากำกับดูแลการศึกษาช่วงรอยต่อระหว่างชั้น ม.6 กับระดับอุดมศึกษาเอง เบื้องต้นอาจมากำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจนให้แต่ละหน่วยงาน รวมถึงการให้ทำงานแบบบูรณาการ  เพราะที่ผ่านมาแต่ละหน่วยทำงานแยกส่วน ไม่มีใครใส่ใจกัน เมื่อเวลาเกิดปัญหาก็มาโทษกันแล้วก็ปล่อยปัญหาไป”นายสมพงษ์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: