“เวลาฉีดยาระวังอย่าให้คนไข้เกร็งแขนนะเพราะเส้นเลือดอาจจะแตกได้”
“เวลาช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินที่หัวใจหยุดเต้นให้วางมือทั้งสองทาบบนหน้าอกด้านซ้าย
และค่อยๆ กดลงไปให้เป็นจังหวะเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้น”...
รุ่นพี่นิสิตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนน้องๆ ม.ปลายใช้เครื่องมือแพทย์และช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในกิจกรรม "LET'S GO!! แพทย์จุฬาฯ" จัดโดยโครงการจุฬาคิดส์คลับ เพื่อให้น้องๆ ม.ปลายได้รู้ถึงการเรียนและการทำงานของแพทย์ โดยมีรุ่นพี่นิสิตแพทย์ จุฬาฯ มาบอกเล่าประสบการณ์ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้องม.ปลาย ที่ห้องประชุมมงคลนาวิน ชั้น10 ตึกสก. รพ.จุฬาลงกรณ์
โดยมี รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ดูแลโครงการ และพี่ๆ นิสิตแพทย์จุฬาฯ ชั้นปีที่ 5-6 เล่าประสบการณ์เรียนหมอ ไม่ว่าจะเป็น "ตูน" ศุภกัญญา ตันศรีรัตนวงศ์ ประธานค่ายอยากเป็นหมอครั้งที่ 20, "ภพ" ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล, "เฟิร์น" เฟิร์น ชาญด้วยวิทย์, "ก้อย" ขนิษฐา เธียรกานนท์, "ทราย" รับพร สวัสดิสรรพ์, "กิ๋ง" ฉัทชนันท์ ด้วงคำจันทร์, "ปิง" ศิวัตม์ เสรีโรดม รัตนวงศ์ ประธานค่ายอยากเป็นหมอครั้งที่ 21 และ "เอ๊ก" คณะวัฒน์ จันทรลาวัณย์
ภพ แนะนำว่า การเข้าร่วมกิจกรรมของแต่ละคณะในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น ค่ายอยากเป็นหมอจุฬาฯ และพูดคุยกับรุ่นพี่นิสิต นักศึกษาคณะต่างๆ ว่าการเรียนคณะนั้นๆ เป็นอย่างไร จะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าอยากเรียนอะไร เพราะการเลือกเรียนนั้นยากที่สุดตรงที่ "ตัดสินใจ”เหมือนการ "แต่งงาน” ซึ่งน้องๆ ควรสอบเข้าแพทย์ หรือแอดมิชชั่นส์เพียงครั้งเดียว เพราะเรียนจบแล้วต้องทำงานในอาชีพนั้นไปตลอดชีวิต
เช่นเดียวกับ เอ๊ก ที่บอกว่า การเรียนหมอต้องมี "จิตใจที่อยากทำ คิดเอง ชอบเอง” ไม่ใช่เรียนเพื่อพ่อแม่เพราะผู้ป่วยและญาติต่างฝากความหวังไว้กับหมออย่าง มาก เมื่อรู้ตัวว่าชอบเรียนอะไรแล้วก็มุ่งมั่นให้สุดทาง หากเราทุ่มเทไปหมดแล้ว ก็อย่าเสียใจภายหลัง
ส่วนเทคนิคการเรียนหมอนั้น ปิง บอกว่า ชั้นปีที่ 1-3 เป็นการเรียนแบบเลคเชอร์ ก็ต้องอ่านหนังสือให้เต็มที่ เมื่อเรียนชั้นปีที่ 4-6 ต้องเรียนควบคู่กับขึ้นวอร์ดดูแลคนไข้ตามแผนกต่างๆ เช่น อายุรกรรม กุมารเวช ซึ่งเทคนิคการอ่านหนังสือช่วงนี้ต้องไม่ท่องจำเพื่อสอบแต่ต้องใช้ข้อมูลและ ประสบการณ์ดูแลคนไข้ มาหาความรู้เพิ่มเติมทั้งถามรุ่นพี่และอ่านหนังสือ โดยเน้นเฉพาะโรคนั้นๆ จะช่วยให้จำได้มากกว่า
ด้าน ตูน เล่าหมอว่าอยากเรียนหมอ เพราะคิดว่าได้ทำความดีและช่วยเหลือคนได้มาก แต่เคยคิดจะออกกลางคัน ตอนเรียนชั้นปีที่ 4 เมื่อขึ้นวอร์ด ช่วยคนไข้ไม่ได้ ทั้งที่เรียนมา ช่วงนั้นไม่อยากเรียนหมอแล้ว แต่ก็เลิกท้อใจ เพราะได้ช่วยเหลือคนไข้ที่ปวดท้องแล้วหาย
“เรื่องที่ยากที่สุดของการเป็นหมอ คือ การสื่อสารกับคนไข้ ถ้าคนไข้ไม่บอก ไม่คุยด้วยจะไม่รู้อาการป่วย ต้องใจเย็น อดทนค่อยๆ คุยไป ทำให้คนไข้คุ้นเคย ยอมเล่าถึงอาการป่วย เมื่อรักษาคนไข้แล้วหายกลับไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้เห็นคนไข้ยิ้มเราก็ยิ้มและมีความสุขไปด้วย ทำให้รู้สึกว่านี่แหละคุณค่าของหมอ” ตูน กล่าว
"ก้อย" ฝากว่า การใช้ทุนเรียนหมอ มีหลายวิธีเช่น เป็นอาจารย์คณะแพทย์ เป็นหมอตามโรงพยาบาลต่างๆ แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือ “การชดใช้ทุนด้วยเงิน” เพราะที่รัฐให้ทุนเพราะต้องการหมอไปช่วยรักษาชาวบ้านในต่างจังหวัด
กิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้น้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมเข้าใจการเรียนหมอมากขึ้น "น้องเชอรี่" กนกพร เจริญสืบสกุล นักเรียนชั้นม.5 ร.ร.บดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) บอกว่าทำให้รู้ว่าการเรียนและการทำงานของหมอเป็นอย่างไร แม้เป็นหมอต้องเรียนและทำงานหนักก็ไม่กลัว ยังอยากเรียนหมอและเป็นหมอเด็ก รักษาคนไข้ให้หาย เห็นเขามีความสุข ตอนเรียน ม.3 ตกรถมอเตอร์ไซค์และเลือดคั่งในสมอง หมอที่รักษาดูแลตลอดกระทั่งหายจึงประทับใจมาก
ถ้าหากว่าคนที่อยากเรียนหมอ เลือกเพราะตัวเอง ต้องชอบจริงๆและมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เรียนเพราะต้องตามใจพ่อแม่ ก็คงทำให้ข้อห่วงใยของ รศ.นพ.ชิษณุ ที่บอกว่า เด็กๆ มักจะเลือกเรียนหมอ เพราะพ่อแม่อยากให้เรียน เพราะเห็นว่าลูกเรียนเก่ง แต่เด็กไม่รู้ตัวว่าชอบหรือไม่ เมื่อเข้ามาเรียนแล้ว บางคนไม่ชอบก็ลาออกกลางคัน ทำให้สูญเสียที่นั่งเรียนและงบประมาณ นั้นคงลดน้อยลงไปได้
น้องๆ ที่สนใจร่วมกิจกรรมแนะแนวเรียนหมอของโครงการจุฬาคิดส์คลับ โทร.0-2256-4000 ต่อ3312,www.chulakid.com และค่ายอยากเป็นหมอ ของสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รับสมัครช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ของทุกปีโทร.0-2256-4580, www.docchula.com/forum
ธรรมรัช กิจฉลอง
ธรรมรัช กิจฉลอง
Credit http://www.komchadluek.net/detail/20110306/90673
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น