วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รับตรงทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

สืบเนื่องจากที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนา ประเทศ โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ และอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้และกระบวนการคิดทาง วิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน และนิสิตนักศึกษา ดังนั้นในปี พ.ศ. 2544 ที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงร่วมกันจัดตั้งโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ (ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ระยะที่ 1 ปี 2544-2551) เพื่อจัดสรรทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีให้กับผู้ที่ศึกษาในหลักสูตรวิทยา ศาสตร์ เมื่อนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ที่จบในโครงการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและ เอก ที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอดำเนินโครงการต่อในระยะที่ 2 (ปีการศึกษา 2551-2562) ซึ่งได้รับการอนุมัติในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2550 โดยให้ทุนศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับปริญญา ตรี-โท-เอก แก่ผู้มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานในสถาบัน อุดมศึกษาของรัฐ จำนวน 4 รุ่น รุ่นละ 200 ทุน รวม 800 ทุน และให้ทุนแก่ผู้ที่ศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาโทและเอกในสาขาที่ โครงการกำหนด อีก 4 รุ่น รวม 800 ทุน โดยมีเป้าหมายสร้างกำลังคนระดับปริญญาเอกเพื่อปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษา จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,600 คน โดยเริ่มให้ทุนตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นศูนย์ภาคเหนือ ในการดำเนินการรับนิสิตนักศึกษา เพื่อเข้าศึกษาในสถาบันต่าง ๆ อันประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

คุณสมบัติของผู้สมัครรับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอก
1. ผู้ที่สมัครรับทุนจะต้องมีคุณสมบัติทางการศึกษาดังต่อไปนี้
1.1 กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกับคณะวิทยาศาสตร์ของสถาบันที่อยู่ใน โครงการฯ โดยนักเรียนมีสิทธิ์เลือกสถาบันในภูมิภาคนั้นได้ 3 อันดับ ผู้ที่เลือกสมัครในสาขาที่ไม่ได้เปิดสอนในสถาบันที่เลือก จะหมดสิทธิ์ในอันดับที่เลือกนั้น
1.2 มีผลการเรียนโดยมีคะแนนเฉลี่ยรวมทุกวิชาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงวัน สมัคร (GPAX) ไม่ต่ำกว่า 3.00 โดยได้คะแนนเฉลี่ยในหมวดวิชาเคมี หรือชีววิทยา หรือฟิสิกส์ หรือคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 3.00 และเมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 จะต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 ด้วย
1.3 สำหรับนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ได้แก่ นักเรียนที่เรียนในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนจัดเป็นพิเศษ เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เป็นต้น หรือนักเรียนที่เคยร่วมกิจกรรมวิชาการทางวิทยาศาสตร์ที่จัดโดยกลุ่มโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา มหาวิทยาลัย หน่วยงานของรัฐ เช่น โครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี (สสวท.) โครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ศึกษาในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ในความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัย (สกว.) การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรม ราชูปถัมภ์ หรือโครงการช้างเผือกปูนซีเมนต์ เป็นต้น หรือโครงการ/กิจกรรมวิชาการอื่นๆ ที่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ เห็นชอบ
2. มีสัญชาติไทยและบัตรประจำตัวประชาชนไทย
3. เป็นผู้มีความสนใจในสาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และมีความตั้งใจที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก อย่างต่อเนื่อง ในสาขาที่โครงการกำหนด (ตามเอกสารแนบท้าย) โดยไม่ลาออก และ/หรือเปลี่ยนสถาบันในระหว่างการศึกษาในแต่ละระดับ ทั้งนี้ในระหว่างที่กำลังจะจบในแต่ละระดับปริญญา จะต้องสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อให้ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาที่สูงขึ้น ของภาคการศึกษาถัดไป (ปริญญาตรี โท และเอก ไม่จำเป็นต้องสาขาเอกเดียวกัน หรือต้องเป็นสถาบันเดียวกัน)
4. ยินยอมทำสัญญารับทุนการศึกษาและปฏิบัติตามเงื่อนไขของทุนทุกประการ
5. เมื่อจบการศึกษาจะประกอบอาชีพในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็น ระยะเวลา 1 เท่า ของระยะเวลาที่รับทุนในระดับปริญญาโทและเอก กรณีที่ผิดสัญญาหรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของทุน หรือไม่พยายามศึกษาอย่างเต็มความสามารถอันเป็นสาเหตุให้ไม่จบการศึกษาหรือ ออกจากโครงการฯ ก่อนสำเร็จการศึกษา จะยินยอมชดใช้เงินทุนคืนสถาบันต้นสังกัดเป็น เงิน 2 เท่า ของทุนที่ได้รับไปทั้งหมด ทั้งนี้การลาออกหรือการได้รับอนุมัติให้ออกจากโครงการหรือถูกให้ออกโดยไม่ ต้องใช้ทุนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ



 ศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  http://www.sc.kku.ac.th/scienceweb/

ศูนย์ภาคเหนือ  http://www.science.cmu.ac.th/Reg-sci/Sci_Scholarship/

ศูนย์ภาคใต้  http://www.sc.psu.ac.th/New/TH/index.asp
ศูนย์ภาคกลาง  http://www.sc.mahidol.ac.th/scholarship/sast/index_roundadmin.php

credit:unigang

ไม่มีความคิดเห็น: