วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554
ทำไมฉันต้อง….เรียนหมอ
ทำไมฉันต้อง….เรียนหมอ
.. " ไปดูคนไข้ที่ให้การรักษาแบบประคับประคอง หรือ Palliative care ที่ชื่อ ป้าอำพันธ์ กันเถอะ "...
เพื่อนในกลุ่มฉันชักชวนให้ไปเยี่ยมคนไข้ที่ได้รับมอบหมาย ฉันและเพื่อนต่างรีบไปดู เห็นท่าทางป้าและสามีของป้าดูเคร่งเครียด ท่าทางไม่อยากพูดกับพวกเรามากนัก ฉันเลยหาเรื่องคุยด้วยการหยิบชาร์ตมาเปิดๆ ดู แล้วก็ชวนคุยเรื่อยๆ
ป้าเป็น CA Rectum Stage IV Metas. To Liver หรือก็คือ มะเร็งลำไส้ตรงระยะสุดท้าย ที่กำลังลุกลามไปยังตับ ข้อมูลแค่นี้ทำให้ฉันรู้สึกแย่มากพอ แต่ต้องปรับสีหน้าให้หายเป็นปกติ จากนั้นก็ชวนคุยเรื่องดินฟ้าอากาศ รวมไปถึงรัฐบาลสมัคร คุยเรื่องปัญหาข้าวยากหมากแพง เนื่องจากป้าเป็นชาวนาและครอบครัวก็ทำนาอยู่ที่สุโขทัย รายได้ไม่มากนัก แถมมาป่วยอีก
คุยไปคุยมา ป้าและสามี เริ่มเดินมาถามฉันและเพื่อนของฉันว่า ป้าเป็นอะไรมากไหม จะตายรึเปล่า หมอแน่ใจไหม ว่ารอด แล้วต้องห้อยถุงใส่อุจจาระข้างตัวอย่างนี้ตลอด เอาออกไม่ได้หรือ...
หลายคำถามก็ยากแก่การตอบ ไม่ใช่เพราะฉันไม่มีความรู้ แต่ไม่รู้จะพูดยังไงมากกว่า บางครั้ง ป้าและสามีของป้าก็ถามซ้ำๆ เดิม แต่ละครั้งที่ถาม สีหน้าของป้าไม่สู้จะดีนัก ฉันก็พยายามพูดให้กำลังใจ ชวนป้าร้องเพลงลูกทุ่งเบาๆ เป็นการผ่อนคลาย บางครั้งก็ให้ป้าลองนั่งสมาธิ บังคับจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน
เอาซักหน่อยเถอะ...ฉันคิด อย่างน้อยคนนั่งสมาธิน่าจะสงบได้ วันแรกเยี่ยมป้าไปชั่วโมงกว่าๆ สังเกตว่าพักหลังๆ ป้าเริ่มสนุกสนานกับการคุยมากขึ้น คุยไปด้วย ยิ้มไปด้วยตลอดเวลา จนได้เวลาฉันก็ขอตัวกลับ เพื่อมานั่งทำรายงาน และอ่านหนังสือที่บ้าน
ฉันเคยนั่งนึกนะ... ว่าทำไม ต้องมาเรียนหมอ วิชาชีพที่ฉันมองว่า เหนื่อยยากลำบาก เงินเดือนน้อย แถมดีไม่ดีทำคนไข้เสียชีวิต และก็ถูกฟ้องร้อง วิ่งขึ้นศาลให้วุ่นกันอีก...
เมื่อฉันเป็นเด็ก ด้วยความที่เป็นคนหัวดี จึงถูกปลูกฝังจากญาติผู้ใหญ่ จากพ่อแม่ ว่า อยากให้เรียนหมอ ซึ่งในความคิดของฉัน ฉันไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง อาจเพราะลักษณะนิสัยที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ และไม่มีความอดทนกับสิ่งต่างๆ ได้นาน และที่สำคัญ ฉันไม่เคยมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับหมอเลย ฉันมักจะเถียงทุกคนว่า ถ้าหมอเป็นอาชีพที่ดีที่สุด อย่างนั้นอาชีพอื่นเค้าคงไม่มีคนไปทำแล้วล่ะสิ
แต่แม่ พยายามจะปลูกฝังให้ฉันมีความคิดที่ดีเกี่ยวกับหมอ บอกว่า อาชีพหมอ ต้องเสียสละ ต้องอดทน และที่สำคัญ การรักษาคนป่วยถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ซึ่งฉัน มักจะแอบทำหน้ายื่นๆ จมูกย่นๆ เมื่อแม่พูดถึงอาชีพหมอทุกครั้ง ยิ่งตอนฉันจบ ป.6 ฉันได้สูญเสียเพื่อนสนิทเนื่องจากหมอมาเข้าเวรช้าเพราะมัวแต่ไปดูแลคนไข้ที่ คลินิกส่วนตัว ทำให้เพื่อนของฉันเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุ นั่นล่ะ ทำให้ยิ่งเกลียดหมอใหญ่เลย และมักจะคิดว่า หมอส่วนใหญ่มักจะเห็นแก่ตัว ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่หนึ่งแต่อย่างใด
จนเมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2542 แม่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ด้วยอาการของลำไส้อุดตัน และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้องได้เข้ารับการผ่าตัด เมื่อฉันรู้ข่าว ความรู้สึกแรกคือตกใจมาก และเริ่มระแวงหมอ มักจะถามหมออยู่บ่อยครั้ง ว่าหมอทำอะไรไปบ้าง แล้วแม่จะหายจากโรคไหม แล้วต่อไปแม่จะเป็นอย่างไร
แต่จากการที่ฉันมาสัมผัสกระบวนการรักษาของหมอ ซึ่งไม่เพียงแต่รักษาอาการทางกายเท่านั้น หมอเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหมอจริงๆ หรือ นักศึกษาแพทย์ ทุกคนต่างดูแลแม่ของฉันในเรื่องสุขภาพจิตด้วย และยังเผื่อแผ่การดูแลด้านจิตใจมาที่ตัวฉันด้วย ทุกคนตอบคำถามฉันอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย และให้กำลังใจคุณแม่และครอบครัวฉันทุกคน จนทุกคนรู้สึกคลายกังวลได้ ฉันเริ่มมองต่างมุมบ้าง เริ่มเปิดใจให้กว้าง และหันคิดกลับไปว่า “หมอ” ทุกคนไม่เหมือนกัน
การเรียนของฉันอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และเมื่อตอนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คุณแม่และคุณพ่อ ได้พยายามแนะนำรวมไปถึงชักจูงทุกวิถีทางให้ฉันเรียนหมอ คณะที่มีเกียรติ ได้ช่วยเหลือประชาชน และได้ทำบุญด้วยการรักษาคนไข้ ซึ่งฉันก็ตอบตกลง เพราะยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร และคิดว่า จากประสบการณ์ที่ฉันได้รับ ถ้าฉันเป็นหมอ ฉันคงจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะเข้าไปปรับทัศนคติ ของบุคคลภายนอกต่อหมอให้ดียิ่งขึ้น จะไม่ทำให้ใครเค้าคิดกับหมอเหมือนอย่างที่ฉันเคยคิดอีก
การเรียนในคณะแพทย์ เป็นการเรียนที่หนักมาก หลายครั้งที่ฉันรู้สึกท้อกับการอ่านหนังสือ หลายครั้งที่ฉันรู้สึกว่า เรียนไปทำไม มันไม่น่าจะเกี่ยวกับการรักษาเลย หลายครั้งที่ฉันรู้สึกว่าฉันเบื่ออาจารย์ที่พูดเร็วจนฉันตามไม่ทัน หรือไม่ก็พูดไม่ตรงกับเอกสารการสอน หลายครั้งที่ฉันไม่เข้าใจว่า หมอในโรงพยาบาลบางท่านต่อหน้าทำดีกับคนไข้ ลับหลังว่าคนไข้เสียๆหายๆ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ ทำให้ฉันเรียนชั้นพรีคลีนิก ผ่านมาด้วยเกรดไม่สูงมากนัก แต่ก็เพียงพอกับการผ่านไปเรียนในชั้นคลีนิก
วันแรกในการเรียนชั้นคลีนิก ความรู้สึกของฉันก็เริ่มเปลี่ยนไป ฉันเริ่มมีคนไข้เป็นของตนเอง เริ่มได้ออกเยี่ยมบ้านและได้ให้คำปรึกษา รวมไปถึงแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วย การเรียนแบบนี้ทำให้ฉันมีคำถามมากมาย ซึ่งทำให้ฉันต้องการที่จะรู้อย่างแท้จริง ว่ามันเกิดจากอะไร ทำไมผู้ป่วยถึงมีอาการแบบนี้ และทำไมต้องให้ยาตัวนี้ ทำให้ฉันเริ่มรู้สึกว่าเป็นการเรียนที่สนุก และเต็มไปด้วยความคิด
จนกระทั่งวันหนึ่ง ฉันได้รับคนไข้ Pallitative care ซึ่งเป็น CA Rectum Stage IV อาจารย์หมอบอกฉันว่า อยากให้ฉันและเพื่อนในกลุ่มไปพูดคุยและให้กำลังใจกับคนไข้ ฉันและเพื่อนๆ ในกลุ่มจึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมป้าอำพันธ์ หลายคำถามที่มาจากป้า และหลายคำถามที่มาจากคนในครอบครัวป้า ทำให้ฉันนึกถึงตอนฉันเด็กๆ ที่ถามหมอและพี่นักเรียนแพทย์ซ้ำแล้วซ้ำอีกเกี่ยวกับอาการของแม่ ตั้งแต่วันแรกที่แม่เข้าโรงพยาบาล จนถึงวันสุดท้ายที่แม่สามารถออกโรงพยาบาลได้
การได้ดูแลคนไข้ ทำให้ฉันนึกถึงหน้าที่และความจริงใจที่ “หมอ” ควรมีต่อคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเวลาครบ 9 ปีพอดีที่ฉันพยายามค้นหาว่า ทำไม ฉันต้องเรียนหมอ และเรียนไปเพื่ออะไร
วันสุดท้ายก่อนสอบลงกอง กลุ่มเราก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมป้าอีกครั้ง ป้าและลุงดูเป็นกันเองมากๆ ถึงแม้ว่าป้าจะมีอาการแทรกซ้อนเรื่องเม็ดเลือดขาวต่ำ แต่ป้าก็บอกว่าป้าไม่สนใจ ทำใจได้แล้ว คุยกับหมอสนุกๆ ดีกว่า ....ฉันจึงคิดในใจว่า อย่างน้อย ป้าก็เป็นคนไข้รายหนึ่งล่ะ ที่ถึงแม้ว่าฉันจะรักษาทางร่างกายกับเขาไม่ได้ แต่สภาพจิตใจของป้าและคนรอบข้าง ดีขึ้นมากกว่าวันแรกอย่างแน่นอน
อย่างน้อยฉันพอได้คำตอบแล้วว่า การเรียนหมอ เรียนไปเพื่อตนเอง กล่าวคือ เรียนเพื่อให้ตนเอง สามารถไปรักษาผู้อื่น ให้พ้นจากความทุกข์ทรมานต่อไปได้ และที่สำคัญ ไม่ใช่รักษาแค่ร่างกาย ต้องรักษาทางด้านจิตใจรวมไปถึง ต้องดูแลคนรอบข้างของผู้ป่วยด้วย
ฉันได้เรียนรู้ว่า การเรียนด้วยความรัก ดูแลคนไข้ด้วยความจริงใจและเอาใจใส่ ทำให้ฉันมีความสุข อย่างน้อย ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ความสุขที่ฉาบฉวย แต่เป็นความสุขที่ได้ช่วยเหลือ และได้รับมาจากความจริงใจนั่นเอง
นศพ. ศิวนาฏ พีระเชื้อ
นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ถ้าใครอ่านแล้ว สนใจ ต้องการซื้อหนังสือ ติดต่อ มูลนิธิแพทย์ชนบท ตามลิงค์นี้ได้เลยครับ ราคาเล่มละ 60 บาท 160 หน้า คุ้มค่ามาก ๆ ครับ
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-11-2008&group=12&gblog=1
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น