เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าคนที่เรียนเก่ง อันดับต้นๆ ของห้อง ของโรงเรียน หรือเรียนเก่งไปถึงระดับประเทศ เขาเหล่านั้นมีเคล็ดลับ และเทคนิควิธีในการเรียนอย่างไร??? วันนี้ Life on campus ได้ไปเสาะแสวงหาคำตอบจากนักเรียนเกรด “A” เคล็ดลับดีๆ มีประโยชน์เหมาะสำหรับน้องๆ ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากเด็กเรื่อยๆ เปื่อยๆ มาเป็นเด็กเรียนระดับหัวกะทิ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ด้วยเทคนิคที่จะมาช่วยให้การเรียนง่ายขึ้น ไม่ต้องไปนั่งอ่านหนังสือแบบอัดแน่นตอนสอบ หนัก เหนื่อย เครียด อ่านเท่าไหร่ก็ไม่เข้าหัวสักที กับ "15 เคล็ดลับเรียนเก่ง...จากนักเรียนระดับหัวกะทิ" ลองไปฝึกทำกันดูได้ผลแน่คอนเฟิร์ม!!!
1. พวกเขาไม่ 'อ่าน' ตำราเรียน
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าการอ่านตำราเรียนเป็นสิ่งที่ เหล่าเด็กเรียนเขาไม่ทำกัน แต่เรากำลังจะบอกว่า การอ่านตำราเรียนทั้งหมด เป็นสิ่งที่ทำแล้วเกิดประสิทธิภาพน้อยมาก เด็กเก่งๆ หัวกะทิส่วนใหญ่พวกเขาจะไม่อ่านตำราเรียน แต่จะใช้วิธีลงมือปฏิบัติแทน “แก้โจทย์ปัญหา และการทำแบบฝึกหัด” การหาความรู้เพิ่มเติมจากการใช้ Google, อ่านจากช็อตโน้ต และการหาข้อสอบเก่าๆ มาทำ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะเวลาอันสั้น ดีกว่าต้องมานั่งอ่านหนังสือกองโตเป็นไหนๆ
2. ทำความเข้าใจหัวข้อที่เรียนและอธิบายด้วยคำพูดของเราเอง
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนก็คือ “ความเข้าใจในบทเรียน” นั้นๆ ภายหลังจากที่คุณครูหรืออาจารย์สอนเสร็จ พยายามจดโน้ตย่อบทเรียนสั้นๆ ด้วยคำพูดของเราเอง จับใจความสำคัญของบทเรียน และนำมาวิเคราะห์ให้ได้ว่าสิ่งที่เขียนอยู่ในหนังสือและที่อาจารย์ได้สอนมาอะไรคือ “หัวใจหลัก” อธิบายสั้นๆ ด้วยคำพูดของเราเอง เขียนลงไปในสมุดเพื่อเป็นการสรุปย่อ และยังสามารถนำมาทบทวนก่อนสอบได้อีกด้วย เพียงเท่านี้การเรียนก็จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณอีกต่อไป
3. เด็กเรียนเก่ง...ไม่กลัวที่จะถาม!!!
ดังคำกล่าวของ William Arthur Ward ที่ว่า “Curiosity is the wick in the candle of learning. ความกระหายใคร่รู้คือไส้เทียนของเทียนแห่งการเรียนรู้” สำหรับเด็กที่เรียนดีเรียนเก่ง สังเกตได้ว่า “พวกเขาจะไม่กลัวที่จะถาม” เมื่อเกิดความสงสัย หรือไม่เข้าใจตรงส่วนไหนจดคำถามนั้นไว้ แล้วให้อาจารย์ หรือเพื่อนที่เข้าใจอธิบายให้ฟัง จงอย่ากลัวที่จะถามคำถาม “โง่ๆ” และอย่าใช้การท่องจำอย่างไม่เข้าใจ เพราะการเรียนแบบนั้นจะไม่ได้ผลและถือเป็นข้อผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเลยทีเดียว
4. พวกเขา...ชอบตั้งคำถาม?
ถ้าอาจารย์สอนว่า “โทมัส เจฟเฟอร์สัน ชายผู้ที่ฉลาดที่สุด และยากจนที่สุด ผู้ที่เข้าร่วมในการร่างสัญญาประกาศอิสรภาพอันมีชื่อเสียง ในปี ค.ศ.1776”
เด็กนักเรียนทั่วไปอาจจะตั้งใจฟัง พร้อมกับจดลงในสมุดบันทึกทุกคำถามที่อาจารย์บอก และพยายามที่จะจำสิ่งเหล่านี้ให้ได้ แต่ถ้าเป็นเด็กเรียนเก่ง พวกเขาจะพยายามตั้งคำถาม เช่น
โทมัส เจฟเฟอร์สัน คือใคร? เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร? และทำไมเขาถึงเป็นคนสำคัญ?
หลังจากนั้นพวกเขาก็จะเริ่มค้นหาคำตอบจาก google หรือใน วิกิพีเดีย เพื่อหาประวัติเกี่ยวกับโทมัส เจฟเฟอร์สัน, รูปภาพเก่าๆ และความสำคัญเกี่ยวกับคำประกาศอิสรภาพที่บรรพบุรุษผู้นี้เป็นผู้ร่วมสร้างมา กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้จะช่วยให้จำเหตุการณ์สำคัญได้มากขึ้น จนเรียกได้ว่าฝังลึกลงไปในสมอง เพราะนี่คือพลังแห่งการตั้งคำถาม นั่นเอง
5. เข้าใจโครงสร้าง ไม่พยายามท่องจำ
เคล็ดลับสำคัญสำหรับเด็กเรียนเก่ง คือ พวกเขาจะพยายามทำความเข้าใจในโครงสร้างต่างๆ ของบทเรียน และเนื้อหานั้นๆ มากกว่าการท่องจำ เพราะการพยายามจำสิ่งต่างๆ มีผลกระทบต่อการจำอะไรไม่ได้เลย เมื่อเราเข้าใจโครงสร้างต่างๆ แล้ว เราก็จะจำได้ไปเอง ต่างจากการท่องจำเพียงอย่างเดียว เมื่อเจอโจทย์หรือข้อสอบที่พลิกแพลงไปจากที่ท่องมาแล้วก็อาจจะทำไม่ได้ เพราะไม่รู้ที่มาที่ไปและวิธีปรับใช้
6. พวกเขาทดสอบตัวเองบ่อยๆ
การทดสอบตัวเองบ่อยๆ จะทำให้สมองของคุณสามารถเชื่อมต่อกับเนื้อหาใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีนี้จะทำให้คุณรู้ตัวเองได้อย่างทันทีและชัดเจนว่า เรามีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา บทเรียน ความรู้ใหม่ๆ หรือไม่? ในต่างประเทศได้ทำการวิจัยแล้วว่าวิธีนี้จะช่วยให้จำบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น วิธีคือภายหลังจากเรียนเสร็จแล้ว จะมีการทำแบบทดสอบโดยแบ่งเป็น 5 นาที, 2 วัน และ 2 สัปดาห์ต่อมา จะช่วยให้จำได้แม่นขึ้นมากกว่าการเรียนเพียงอย่างเดียว หรือทำเป็นการจำลองการทำข้อสอบเสมือนจริง มีการจับเวลา และจำนวนข้อสอบ ถือเป็นการฝึกตัวเองไปในตัวด้วย
7. ทำสิ่งที่นอกเหนือจากการฟังบรรยาย
หลายครั้งที่การฟังบรรยายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อสำหรับคุณ อาจารย์อาจจะพูดเร็วเกินไปจนคุณจดไม่ทัน หรือพูดช้ามากจนอยากหลับ สำหรับเด็กเรียนเก่งพวกเขามีวิธีจัดการกับสิ่งน่าเบื่อต่างๆ เหล่านี้ด้วยวิธีการ
- ฉันจะไม่ไปไหน แม้ว่ามันจะน่าเบื่อ เพราะเวลาที่ดีที่สุดคือ "เวลาในห้องเรียน"
- อ่านบทเรียนล่วงหน้าก่อนฟังบรรยาย
- ตั้งคำถาม จากการอ่านล่วงหน้า เพื่อมาหาคำตอบจากการฟังบรรยาย
- โฟกัสไปที่ปัญหาที่เกิดขึ้นและจดลงไปในสมุดบันทึก พยายามจับใจความสำคัญในสิ่งที่อาจารย์สอน และหัวข้อที่จะใช้ในการสอบ
สิ่งเหล่านี้จะทำให้การฟังบรรยายมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถนำมาอ่านทบทวนในภายหลังได้ในระยะเวลาสั้นๆ
8. ใช้เครื่องมือการศึกษาออนไลน์เป็นประจำ
อย่าเชื่อทุกอย่างเพียงเพราะอาจารย์สอน อย่ายึดติดอยู่กับตัวอย่างบนกระดานดำ หรืออ่านแค่ในตำราเรียน ยังมีความรู้อีกมากมายที่เราสามารถหาได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส เด็กเรียนส่วนใหญ่จะหาความรู้เพิ่มเติมจากการเซิร์ท 'Google' ท่องโลกออนไลน์ ลักษณะนิสัยที่ดีของผู้ที่คอยแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ทำให้ติดเป็นนิสัย “New concept = go to Google for a quick explanation.” ตั้งคำถามรวมทั้งหาคำตอบได้จาก Google, youtube หรือ Wikipedia เครื่องมือออนไลน์เหล่านี้จะช่วยให้การเรียนของคุณง่ายขึ้น
9. เรียนในระยะสั้นๆ ดีกว่านั่งเรียนแบบมาราธอน
การศึกษาในระยะเวลาสั้นๆ มีแนวโน้มที่จะทำให้ตั้งใจเรียนอย่างมุ่งมั่น เพราะอย่างน้อยเราก็จะรู้ว่าอีกสักครู่ก็จะได้พักจากการเรียนแล้ว แน่นอนว่าต้องดีกว่าการเรียนแบบมาราธอนเป็นเวลาหลายชั่วโมงแน่นอน เพราะจะทำให้สภาพจิตใจเราเกิดความเบื่อหน่าย เนื่องจากระยะเวลาที่นานเกินไป เริ่มเรียนจากระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 30 นาที ในการอ่านหนังสือ หรือทบทวนบทเรียน ถ้านั่งเรียนในระยะเวลาที่ยาวนานเกินไปควรหาเวลาพักบ้าง
10. ศึกษาข้อสอบที่ทำผิดทันที
ภายหลังการสอบ อาจารย์มักจะบอกข้อผิดพลาดให้กับนักเรียนทราบ นักเรียนที่เรียนดีส่วนใหญ่มักจะเก็บข้อผิดพลาดของพวกจดลงในสมุดโน้ต พร้อมทั้งพยายามแก้ไขและทำความเข้าใจให้มากขึ้น ไม่เข้าใจจุดไหนก็สามารถถามอาจารย์ได้ทันที จนกว่าพวกเขาจะเข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะจำข้อที่ผิดได้แม่นยำขึ้น สิ่งผิดพลาดเหล่านี้คือตัวบ่งชี้ “สิ่งที่จะต้องปรับปรุง” นักเรียนนักศึกษาจึงไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาด
11. ฝึกฝนภายใต้สถานการณ์ของการสอบ 'จริง'
สุภาษิตเก่าของฝรั่งที่ว่า “practice makes perfect” หรือ “การฝึกฝนทำให้ชำนาญ” อาจไม่เป็นความจริงทั้งหมด แต่การฝึกฝนภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์จริง อาจเป็นสิ่งที่ทำแล้วได้ผลมากกว่า สำหรับนักเรียนที่เรียนดีเรียนเก่ง แทนที่พวกเขาจะนั่งท่องแต่ตำราเรียน ทำการบ้าน และทำแบบฝึกหัด พวกเขาจะข้ามขั้นมาเป็นการทำแบบทดสอบโดยกำหนดเงื่อนไขให้เหมือนกับสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเจอตอนสอบจริงๆ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวเอง นั่งทำข้อสอบภายในห้องที่เงียบสงบ ตั้งเวลาด้วยนาฬิกาปลุกให้เท่ากับเวลาในห้องสอบ และตั้งใจทำข้อสอบอย่างจริงจังและมีสมาธิ ทำบ่อยๆ จะช่วยลดความกดดันไปได้เยอะเลยทีเดียว
12. ทำข้อสอบเก่าเยอะๆ
อีกหนึ่งเคล็ดลับที่เด็กเรียนเก่งกระซิบบอกมาว่า พวกเขามักจะหาข้อสอบเก่าๆ มาทำ ฝึกทำบ่อยๆ จะได้จำแม่นๆ แม้เราจะไม่รู้ว่าแต่ละปี หรือแต่ละเทอมข้อสอบจะออกอะไร แต่แนวข้อสอบส่วนใหญ่ก็จะออกซ้ำๆ แนวเดิมๆ อาจจะเจอคำถามที่คล้ายๆ กัน ที่เราเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง ที่สำคัญข้อสอบเก่าก็เปรียบเสมือนหินลับมีด ลับสมองของเราให้คมกริบ ก่อนลงสนามจริงๆ แบบนี้เกรด “A” คะแนนเต็ม จะไปไหนเสีย ยิ่งตอนนี้สามารถดาวน์โหลดข้อสอบเก่าๆ มาทำได้สะดวกสบายมากขึ้นอีกด้วย
13. พวกเขานอน...เยอะมาก
หลายคนคงคิดว่าเด็กเรียนเก่งต้องนั่งเรียนอย่างหนักอดหลับอดนอน เพื่ออ่านหนังสือเยอะๆ แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะพวกเขานอนเยอะ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีผลการวิจัยออกมาแล้วว่าการนอนหลับสนิทจะช่วยเพิ่มหน่วยความจำ และระบบจะจัดเก็บความทรงจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญยังทำให้คุณเข้าใจและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดีและมีไหวพริบปฏิภาณเร็วขึ้นนั่นเอง
14.เด็กเรียนเก่ง...ไม่ใช่เจ้าแห่งไฮไลท์
การไฮไลท์ที่ดีควรจะเน้นเฉพาะคำสำคัญ ไม่ใช่ทั้งย่อหน้า ถ้าต้องการที่จะเขียนโน้ตเพิ่มเติมบางอย่างให้เขียนแยกออกมา, ขีดเส้นใต้ และเขียนคำอธิบายที่เชื่อมโยงกันเพิ่มไปด้วย หรือถ้าจะให้ดีที่สุด คือการเขียนชอตโน้ตแบบสั้นๆ ด้วยภาษาของคุณเอง เพื่อเป็นการสรุปความเข้าใจไปด้วย นักเรียนบางคนขีดไฮไลท์แทบจะทั้งหน้า จึงไม่เห็นความแตกต่างและจุดสำคัญที่ควรเน้นนั่นเอง
15. เด็กเรียนเก่งต้อง “รอบคอบ” และมี “ความรับผิดชอบ” สูง
สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นได้จากเด็กเรียนดีหลายคนนั่นก็คือ “ความรับผิดชอบ” ที่ทำให้พวกเขาต่างจากเด็กทั่วไป รับผิดชอบต่อการเรียน ทำการบ้าน ทำรายงาน อ่านหนังสือ ทำแบบฝึกหัด รู้หน้าที่ว่าจะต้องทำอะไร วางแผนการใช้ชีวิตของตัวเองได้ ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงจุดหมายที่ได้ตั้งเป้าไว้ เด็กเรียนเก่งมักมีความรับผิดชอบ นอกจากรับผิดชอบชีวิตแล้ว ในการเรียนและการทำข้อสอบเราก็ต้องมีความรอบคอบสูง อาจมีคนที่เก่งเหมือนกันแต่จะมาเฉือนกันตรงความรอบคอบนี่เอง
เรียบเรียงข้อมูลจาก : Top secret only "A" a students do not want you to know และ 23 Things Top Students Do
เรียบเรียงภาษาไทย โดย Manager.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น