'จุจัง-อรอุษา'นศ.ม.เคมบริดจ์ เผยเคล็ดไม่ลับพิชิตทุนคิง : โดย...หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ
"เคล็ดลับอย่างแรกเลยต้องมีวินัย มุ่งมั่น อยากเรียนให้ได้ดี ต้องทำตามที่เราตั้งไว้ เป็นเรื่องของการบังคับใจตัวเองให้ได้ และไหนๆ เราก็สมัครสอบไปแล้ว ก็ต้องมุ่งมั่นให้ถึงที่สุด พยายามอ่านหนังสือ และมีสมาธิ หมั่นดูข้อสอบเก่า ทุกคนก็จะมีโอกาสได้ถ้าตั้งใจ" นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ปี 2553 "จุจัง" อรอุษา จารุวรรณ ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 สาขาสถาปัตยกรรม ณ Lucy Cavendish College, University of Cambridge สหราชอาณาจักร
"จุจัง" เริ่มสนใจ"ทุนก.พ." ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน เพราะมีผลการเรียนเกิน 3.5 อาจารย์แนะแนวแนะนำให้เข้าไปดูข้อมูลทุนก.พ.ในเว็บไซต์ www.ocsc.go.th หากโชคดี อาจจะได้ไปร่วมโครงการแลกเปลี่ยน เพิ่มทักษะ ประสบการณ์ที่ต่างประเทศ เธอได้ลองสอบชิงทุนการศึกษา 2 ครั้ง มีเพื่อนๆ ไปสมัครกันประมาณ 10 คน กระทั่งประสบผลสำเร็จ ได้ “ทุนเล่าเรียนหลวง" ถึงปริญญาตรี สาขาสถาปัตยกรรม โดยจะใช้เวลาเรียนอีกประมาณ 2 ปีจากนั้นต้องกลับมาใช้ทุนในประเทศไทย ซึ่งก็ไม่จำกัดว่าจะต้องกลับมารับราชการเพียงอย่างเดียว ทุนนี้เปิดกว้างให้เราสามารถทำงานบริษัทเอกชนได้ ซึ่งระยะเวลาในการใช้ทุนก็เท่ากับระยะเวลาที่เรียน
หลังจากสอบผ่าน สำนักงาน ก.พ.จะให้คำแนะนำแก่นักเรียนทุนอย่างใกล้ชิด เช่น จะมีรายชื่อมหาวิทยาลัยมาให้ศึกษาว่ามีมหาวิทยาลัยไหนเปิดสาขาที่ต้องการเรียน ในช่วง 3 สัปดาห์แรก สำนักงานก.พ.ให้ไปเรียนภาษาก่อน ที่เมืองเมืองหนึ่งในประเทศอังกฤษ เป็นช่วงที่สามารถฝึกฝน พัฒนาทักษะทางด้านภาษาอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะมาเรียนระดับเอ เลเวล ที่ต้องฝึกเขียนรายงานอย่างจริงจังมากขึ้น โดยใช้เวลาเรียนรวมแล้วประมาณ 2 ปี ซึ่งการเรียนเอ เลเวล นี้ เป็นข้อกำหนดของการศึกษาต่อต่างประเทศ
"การเรียนที่ต่างประเทศโดยรวมแล้ว เน้นให้ค้นคว้าด้วยตัวเอง อาจารย์จะเปิดกว้าง เรื่องหัวข้อ เช่น ว่าถ้าอยากจะทำโปรเจกท์ไปทางแนวนี้ อาจารย์จะไม่ห้าม แต่จะแนะนำว่าหนังสือเล่มไหนบ้างที่ดี เหมาะแก่การค้นคว้าเพิ่มเติม มีสำนักงาน ก.พ.เป็นศูนย์กลางเชื่อมความสัมพันธ์ จะมีสมาคมที่เรียกว่า สามัคคีสมาคม จะคอยเป็นศูนย์รวมนักเรียนทั่วเกาะอังกฤษ มาทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน”
ทั้งนี้การเตรียมตัวไปศึกษาต่อต่างประเทศนั้น การเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ จุจัง ได้ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า “ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เก่ง หรือจะเรียนไม่ทันคนอื่น ตราบใดที่มีความอดทนและมุ่งมั่นที่จะเรียน ก็จะสามารถเรียนให้เทียบเท่ากับเด็กต่างชาติได้ ยิ่งมีสำนักงาน ก.พ.คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดแล้ว ก็จะยิ่งช่วยได้มาก ทั้งทางด้านจิตใจ และข้อมูลด้านการศึกษา ทำให้มีความอุ่นใจมาก”
สำหรับคนที่สนใจขอรับทุน ก.พ. ขอให้ตั้งใจเรียนในห้องเรียน ทำกิจกรรมที่โรงเรียนให้มาก ไม่ใช่เรียนอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม หรือกีฬา จะเป็นประโยชน์ตอนสัมภาษณ์ ซึ่งผู้ที่สัมภาษณ์จะมีประสบการณ์ทางด้านจิตวิทยา จะมีการถามคำถาม เช่น เคยผิดหวังบ้างหรือไม่ และจัดการความผิดหวังอย่างไร เรียนวิชานี้เพื่ออะไร แล้วจะกลับมาทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยได้อย่างไร มีความมุ่งมั่น อดทน ฝ่าฟันชีวิตในต่างประเทศได้หรือไม่ การทำกิจกรรมมาก่อนจะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น
หลังเรียนจบ "จุจัง" จะกลับมาเป็นอาจารย์ หรือเป็นนักวิชาการ เพราะทุนที่ได้รับนี้ เป็นภาษีของประชาชนคนไทยไปเรียน ก็อยากทำอะไรตอบแทนสังคมไทย คิดตั้งแต่วันที่ตั้งใจว่าจะสมัครเข้ารับทุนรัฐบาลแล้ว ที่สำคัญตอนเรียนได้เรียนทฤษฎีเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม และปีแรกๆ เน้นให้กล้าคิด ทุกสิ่งเป็นไปได้ พอปีที่สองจะค่อยๆ ให้ทำความคิดนั้นเป็นความจริงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้มีพื้นฐานทางด้านวิชาการแน่น และกว้างขึ้น
.......................
สนใจเกี่ยวกับทุน ก.พ.และการศึกษาต่อต่างประเทศ หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานมหกรรมการศึกษาต่อต่างประเทศ 2013 (OCSC International Education Expo 2013) จัดโดยสำนักงาน ก.พ. ในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน เวลา 12.00-18.00 น. ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ได้รวบรวมมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองกว่า 250 สถาบันจาก 20 ประเทศ ทั่วโลก อาทิ สหราชอาณาจักร อเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เกาหลี ฯลฯ ที่นำทุนมหาวิทยาลัยและส่วนลดมาแจกภายในงาน หรือสอบถามข้อมูลการศึกษาในระดับต่างๆ ขอคำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตร ระบบการศึกษา การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ ได้ที่ www.facebook.com/ocscexpo หรือwww.ocscexpo.net
.......................
('จุจัง-อรอุษา'นศ.ม.เคมบริดจ์ เผยเคล็ดไม่ลับพิชิตทุนคิง : โดย...หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น