วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความพยายามทำให้มีวันนี้! ตามรอย "พี่วิทย์" เด็ก กศน. คนแรกของไทย ที่สอบติดหมอ!

        
ความพยายามทำให้มีวันนี้! ตามรอย "พี่วิทย์" เด็ก กศน. คนแรกของไทย ที่สอบติดหมอ!
แนะนำตัว
            สวัสดีครับ ชื่อ วรวิทย์ คงบางปอ ครับ นิสิตเตรียมแพทย์ชั้นปีที่1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ครับ จบการศึกษาเทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจาก ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ครับ ต้องเล่าว่าตอนม.4- ม.5 เรียนสายสามัญครับ แต่มีเหตุให้ต้องย้ายที่เรียน แล้วไม่สามารถไปเข้าเรียนได้ ทำให้ตัดสินใจเรียน กศน. แล้วเทียบโอนวิชาที่เรียนมาแล้ว ทำให้สามารถจบพร้อมๆ กับเพื่อนๆ ในหลักสูตรได้ 
            (นิสัยส่วนตัวเป็นคนยังไง) โดยปกติแล้วถ้ากับคนที่ไม่รู้จักกันจะคิดว่าผมเป็นคนเงียบๆ พูดน้อยครับ เพราะเป็นคนเริ่มคุยก่อนไม่ค่อยเก่ง แต่ถ้ารู้จักหรือสนิทแล้วจะพูดมากครับ
 
เรียน กศน. ส่งผลต่อการสอบมากกว่าเด็กสายสามัญ?
            ถ้าถามว่าส่งผลมั้ย ก็มีบ้างที่ส่งผลครับ เพราะการเรียนนอกระบบถ้าอยากรู้หรืออยากเรียนอะไรต้องขวนขวายหาเองหมด ไม่มีเพื่อนให้ปรึกษา ไม่มีอาจารย์ให้ถาม ไม่มีสังคมกับเพื่อนๆ ในโรงเรียนที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเห้ย เรามีคนที่ร่วมชะตากรรมนะ เลยทำให้บางครั้งก็มีท้อครับแต่ต้องสู้ต่อไป แล้วผมอยู่ต่างจังหวัดด้วยทำให้ไม่ค่อยมีที่ติวดัง ก็เรียกว่าลำบากพอตัวเลย
 
ความพยายามทำให้มีวันนี้! ตามรอย "พี่วิทย์" เด็ก กศน. คนแรกของไทย ที่สอบติดหมอ!
เตรียมตัว หนัก ทำข้อสอบซ้ำๆ จนกว่าจะได้!!
            ตัวผมเองไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด หรือ เก่งกว่าใคร ผมเลยต้องเตรียมตัวให้มากโดยเริ่มอ่านหนังสืออย่างจริงจัง ประมาณ 1 ปีครึ่ง ก่อนสอบครับ (เอาแบบละเอียดๆ รายวิชาเลย)
วิชาคำนวณพวกฟิสิกส์ เคมี คณิต
- ผมจะอ่านเนื้อหาทีละบทก่อน
- พอจบเนื้อหาหนึ่งบทก็จะไปทำโจทย์ของบทนั้นๆ
- พอครบทุกบทก็จะไปทำโจทย์ข้อสอบรวมย้อนหลัง
- พอทำเสร็จหนึ่งชุดเอามาตรวจแล้วก็ทำซ้ำ ข้อที่ทำได้แล้วทำซ้ำ 1 รอบ
- ข้อที่ยังทำไม่ได้ทำซ้ำ 3 รอบ ครับ
วิชาจำอย่างชีวะ 
- พออ่านจบหนึ่งหน้าก็จะปิดสมุดแล้วก็อธิบายคอนเซปให้ตัวเองฟัง
- ถ้าอธิบายได้เข้าใจและได้ทั้งหมดถึงจะขึ้นหน้าต่อไป มันอาจจะช้าหน่อยแต่ชัวร์ครับ
- พอจบหนึ่งบทก็จะไปทำสรุปและโจทย์บทนั้นๆครับ
- พอจบทุกบทค่อยขึ้นข้อสอบรวมครับ
- ทุกครั้งที่เฉลยข้อสอบแล้วรู้ว่าเราผิดตรงไหนผมจะมีสมุดเล่มเล็กๆ ไว้จดข้อผิดพลาดเสมอครับ เพราะมันเป็นจุดที่ข้อสอบมักใช้หลอกเราบ่อย
ภาษาอังกฤษ
- ผมอ่านแกรมม่าแล้วก็ท่องศัพท์ซะส่วนใหญ่ครับ
- ช่วงก่อนสอบก็พยายามดูหนังก็จะฟังเป็นภาษาอังกฤษ อ่านนิยายภาษาอังกฤษ ฟังเพลงภาษาอังกฤษครับ
ไทย - สังคมฯ
- อ่าน 1 เดือนสุดท้ายก่อนสอบครับ 
 
            ส่วนช่วงเวลาที่ผมอ่านหนังสือ วันนึงผมจะเลือกอ่านแค่ 3 วิชาครับ วิชาละ 2 ชม. สลับๆ กันไป ทริคสำคัญสำหรับผม คือ ผมชอบอ่านช่วงกลางคืนมากกว่าช่วงกลางวันครับเพราะรู้สึกว่าทุกอย่างมันเงียบสงบและอากาศก็สบาย
            อีกอย่างที่สำคัญคือ ลักษณะการอ่านของผม ผมจะวางแผนก่อนเสมอเริ่มตั้งแต่แผนระยะสั้นไประยะยาว เช่น อาทิตย์นี้ต้องอ่านจบบทไหน เดือนนี้ต้องอ่านจบบทไหน แล้วก่อนสอบ 2 เดือนจะต้องจบทุกบท เพื่อให้สองเดือนที่เหลือใช้ทวนจุดยิบย่อยที่ข้อสอบอาจจะหลอกเราครับ ประมาณนี้ครับ
 
"ติว" ไม่ใช่แค่ใช้เงิน ใช้ใจล้วนๆ
            อย่างที่ผมได้บอก จังหวัดที่ผมอยู่ไม่ได้มีที่ติวมากมาย บ้านผมอยู่ที่จังหวัดระนองนะครับ แต่ต้องไปติวที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปเรียนได้แค่เนื้อหา ไม่สามารถเรียนต่อพวกตะลุยโจทย์หรือทำโจทย์ต่างๆ ได้เพราะจะไม่มีรถกลับบ้าน รีบเรียน แล้วก็ต้องรีบกลับบ้าน ทำอย่างนี้ตลอดช่วงเลา 1 ปี ที่เรียน กศน. ไปด้วย เตรียมตัวสอบไปด้วย ไม่ง่ายเลยครับ ผมเคยมองตัวเองเทียบกับหลายๆ คนที่มีที่ติวใกล้ๆ มีที่เรียนพิเศษไม่ไกลบ้าน เค้าโชคดีครับ ผมไม่มีอะไรไปสู้ นอกจากความพยายาม
 
ความพยายามทำให้มีวันนี้! ตามรอย "พี่วิทย์" เด็ก กศน. คนแรกของไทย ที่สอบติดหมอ!
            (แล้วผลออกมาเป็นยังไง) ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย สำหรับผม อยากเป็นหมอ ก็ต้องผ่านระบบรับตรงของ กสพท. ครับ ใช้คะแนน 7 วิชาสามัญ + วิชาเฉพาะแพทย์ ซึ่งผมได้คะแนนน่าพอใจ เรียกว่าคุ้มค่ากับที่พยายาม (เท่าไหร่บ้าง)
  • คณิตศาสตร์ 60 คะแนน 
  • สังคมศึกษา 40 คะแนน 
  • ภาษาไทย 78 คะแนน 
  • ภาษาอังกฤษ 55 คะแนน 
  • เคมี 70 คะแนน 
  • ชีววิทยา 65 คะแนน 
  • ฟิสิกส์ 64 คะแนน 
คะแนนวิชาเฉพาะ กสพท. ได้ 20.6111 % 
รวมได้ 63.5444 %
            (ปลื้มวิชาไหนที่สุด) สำหรับคะแนน ผมปลื้มวิชาเคมีเพราะตอนแรกรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยชอบวิชานี้ เลยเริ่มฟิตด้วยการปูพื้นฐานเนื้อหา แล้วทุกครั้งที่อ่านจบ 1 บทก็จะทำโจทย์บทนั้นๆเพื่อให้เข้าใจครับ พอจบทุกบทก็จะตะลุยโจทย์รวมข้อสอบเก่าครับ
 
รอบสัมภาษณ์ผิดคาดจากที่เตรียมมา
            ด้วยความที่ผมตั้งใจ พอถึงตอนสัมภาษณ์เข้าเรียน ผมก็ไปหาข้อมูล แล้วก็ท่องข้อมูลเกี่ยวกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าไปพอสมควรครับ แต่อาจารย์ท่านไม่ถามเลย ท่านกลับถามเรื่องเหตุผลที่ทำให้ผมเรียน กศน. และถามถึงช่วงชีวิตตอนเรียน กศน. ครับ เป็นคำถามที่ทำให้รู้สึกว่าอบอุ่นกับความใส่ใจต่อตัวนักศึกษาตัวเล็กๆ อย่างเรา
 
เรื่องยากๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย
            ตัวผมเองไม่ได้มองว่าการเรียนเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในรั้วมหาลัย สำหรับผมไม่ใช่เลยครับ แต่ผมกลับมองว่าเรื่องที่ยากที่สุดกลับเป็นการปรับตัวเข้าให้กับคนหลายรูปแบบ สังคมใหม่ๆ คนใหม่ๆ เพื่อนใหม่ ทุกอย่างใหม่หมดเลย และอีกอย่างที่ผมมองว่ายากก็คือ การบริหารเวลาทำงานกับเรียน ให้ไปด้วยกันได้ เนื่องจากผมเป็นประธานรุ่นนิสิตเตรียมแพทย์ชั้นปีที่1 ทำให้ต้องทำงานต่างๆ เพิ่มขึ้นและติอต่อสื่อสารกับหลายๆ คนครับ ทำให้ผมคิดว่าเนี่ยแหละเรื่องยากสำหรับผม แต่ตอนนี้ก็เป็นไปได้ด้วยดีครับ มีความสุขในรั้วมหาวิทยาลัย และก้รู้สึกคุ้มค่าที่ทุ่มเทมา
 
ฝากถึงเด็กแอด
            สำหรับผม ผมอยากฝากถึงน้องๆ ที่กำลังรอแอดมิดชั่นนะครับ คนเราถ้ายังไม่ตายความหวังมันก็ยังมีเสมอครับ เมื่อถึงวันประกาศจะมีทั้งคนสมหวังและผิดหวัง น้องๆ ที่สมหวัง ผมก็ยินดีด้วย สำหรับคนที่ผิดหวังจำไว้นะครับว่าล้มเองได้ ก็ต้องลุกเองให้ได้ น้องเสียใจผิดหวังยังมีพ่อแม่ที่เสียใจกว่าน้องหลายเท่า สู้เพื่อพ่อแม่นะครับ วันนี้อาจไม่ใช่วันของน้องแต่วันข้างหน้าขอให้เชื่อมั่นตัวเองว่าน้องต้องทำได้ "ความฝันไม่จำเป็นต้องตรงใจใคร ขอแค่มันตรงใจเราก็พอ"
 
ความพยายามทำให้มีวันนี้! ตามรอย "พี่วิทย์" เด็ก กศน. คนแรกของไทย ที่สอบติดหมอ!
             ตัวอย่างไอดอลของเราวันนี้ คงเป็นอีกคนที่ทำให้น้องๆ เห็นว่า กว่าจะทำตามฝันได้มันไม่ง่ายเลยเนอะ มีทั้งสมหวัง ผิดหวัง พยายาม และตั้งใจ ขนาดไหน ถ้าอยากได้สิ่งที่หวังก็ต้องทุ่มเทและพยายาม ไม่มีอะไรเป้นไปไม่ได้หรอกเนอะ

ไม่มีความคิดเห็น: