วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557

ถนนสู่อาชีพในฝัน : คุณหมอขาหมาหนูป่วย

สัตวแพทย์เป็น 1 ในคณะยอดฮิตติดอันดับทุกปีตลอดกาลไม่ต่างจากหมอคน ยิ่งปัจจุบันความนิยมเลี้ยงสัตว์มีมากขึ้น ธุจกิจต่างๆที่เกี่ยวกับสัตว์ก็เติบโตสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำทั้งคลีนิครักษาสัตว์ สปาหมาแมว เสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง แต่คุณหมอหมาก็ไม่ใช่จะเป็นกันได้ง่ายๆ ทั้งต้องแข่งขันเพื่อจะเข้าไปเรียนแล้ว เนื้อหาการเรียนก็ไม่ง่าย ต้องมีความตั้งใจจริงและรักที่จะช่วยเหลือสัตว์จริงๆ เพราะแค่เราเอ็นดูว่ามันน่ารักคงจะไม่พอ เรามาทำความรู้จักกับอาชีพนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่าค่ะ
อาชีพสัตวแพทย์คืออะไร
สัตวแพทย์ คือ "หมอรักษาสัตว์" ภาษาอังกฤษเรียกว่า Veterinarian หรือสั้นๆว่า "Vet" ก็จะเข้าใจว่าหมาถึงคุณหมอหมานั่นเอง แค่รักหมาชอบแมวไม่ได้หมายความว่าเราจะรักอาชีพนี้ เริ่มจากถามใจตัวเองว่ารักและสนใจในด้านนี้จริงๆ หมอหมาก็เหมือนหมอคนนั่นแหละต้องทำงานกับสัตว์ป่วย ต้องสัมผัสทั้งเลือด หนอง อึ ฉี่ ของสัตว์ต่างๆที่ป่วย เชื้อโรคที่มากับสัตว์ ความสกปรกที่จะต้องเจอทุกวันๆ นอกจากเมตตาแล้วต้องอดทนและมีจรรยาบรรณในการรักษาสัตว์ เพราะหมามันฟ้องเจ้าของไม่ได้ซะด้วยว่าคุณหมอไม่ได้สนใจตรวจโรคหนูเลย สัตว์พูดไม่ได้ เวลาป่วย ไม่สบาย ไม่สามารถบอกอาการและความเจ็บป่วยของตัวเองเหมือนคน ดังนั้นคุณสมบัติที่สำคัญมากของหมอหมาคือ ใจรักสัตว์และช่างสังเกตเพื่อค้นหาอาการ ผิดปกติ เพื่อที่จะรักษาสัตว์ให้หายดี
คณะสัตวแพทย์เรียนอะไรบ้าง?
ก่อนอื่นเลยคณะนี้ก็คล้ายกับแพทย์ศาสตร์คือมีทั้งรับตรงแบบโควต้าและระบบแอดมิชชั่น บางมหาวิทยาลัยต้องสอบความถนัดทางสัตวแพทย์ด้วย
การเรียนการสอนเป็น 4 ช่วงใหญ่ๆ
ช่วงปี 1 เรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป เช่นสัตววิทยา เคมีทั่วไป ฟิสิกข์ เบื้องต้นคำนวน เป็นเตรียมสัตวแพทย์ ข้อควรระวังบางวิชาน้องๆต้องตัดเกรดกับว่าที่คุณหมอทั้งแพทย์ศาสตร์และทันตแพทย์ มีพี่ๆ เตือนมาว่า
อันตรายไม่ใช่เล่น

ช่วงปี 2 - 3 เรียนวิชา Pre- Clinic เช่น วิชากายวิภาคศาสตร์ ที่ว่าด้วยโครงสร้างที่มองเห็นด้วยตา
เปล่ากับในสุนัข รวมถึงม้า หมู วัว และผองเพื่อน เพื่อเปรียบเทียบในแต่ละสัตว์ จุลกายวิภาค สรีรวิทยา
เภสัชวิทยา กีฏวิทยา กลุ่มวิชาจุลชีววิทยา (แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส) ภูมิคุ้มกันวิทยา รวมถึงวิชาด้านสัตวบาลอีก เช่น วิชาสุขศาสตร์ เกี่ยวกับสุขอนามัยในฟาร์มเลี้ยงสัตว์และการบำบัดน้ำเสียจากฟาร์ม วิชาปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ที่เรียนประมาณวิชาพันธุศาสตร์ และการนำไปใช้ วิชาควบคุมสัตว์และการจัดการฟาร์ม เป็นวิชาที่สำคัญมาก ที่จะพูดถึงการเข้าหาสัตว์ และการจับสัตว์ให้เราปลอดภัย

ช่วงปี 4 - 5 เรียนวิชาคลินิก เช่นวิชา อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์ พยาธิวิทยาทางคลินิก ฯลฯ เรียกว่าเป็นวิชาของคณะสัตวแพทย์จริงๆ การเรียนในช่วงปีนี้มีการใช้สุนัขทดลองด้วยในวิชา surgery ด้วย
ช่วงปีที่ 6 เป็นช่วงที่ฝึกงานตามโรงพยาบาล โดยเวียนไปตามโรงพยาบาลของคณะให้ครบทุกหน่วยเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการรักษาจริง หากเรียนสัตวแพทย์ ม.เกษตรฯ ต้องเรียน 2 วิทยาเขต คือ ปี 1 ถึง ปี 3 เรียนวิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ พอปี 4 ปี 5 ย้ายไปเรียนที่วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม

ส่วนปี6 ก็จะอยู่ 3 โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลสัตว์บางเขน โรงพยาบาลสัตว์กำแพงแสน และ
โรงพยาบาลสัตว์หนองโพ จ.ราชบุรี ครบทั้งสามที่และได้สัมผัสครบถ้วนตั้งแต่สัตว์เล็กจนถึงสัตว์ใหญ่
จบแล้วไปทำงานอะไรได้บ้าง?
ถ้าไม่ทำงานด้านคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ กลุ่มงานจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ รับราชการ
(หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือกรมปศุสัตว์) หรือ งานบริษัทเอกชน โดยมากจะเป็นฝ่ายขาย และฝ่ายวิชาการของบริษัทยา ผลิตภัณฑ์ และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ต่างๆ บริษัทอาหารสัตว์หรือบริษัทตัวแทนจำหน่าย
TIPS น้องๆที่สนใจ ลองไปร่วมกิจกรรมของมหาลัยต่างๆได้ เช่น ค่ายฟ้าหม่น...คนดี ของสัตวแพทย์
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดราวๆ ปลายเดือนมค.-ก.พ. โหลดใบสมัครใน http://www.vetmu.com/ และยังมีค่ายเปิดโลกทัศน์สัตวแพทย์ ของม.เกษตร http://www.vet.kps.ku.ac.th
มหาวิทยาลัยในฝัน – คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล หมา
มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทคโนโลยีมหานคร (ทั้งหมดเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับจากสัตวแพทยสภา)
จริงๆแล้วสัตวแพทย์ไม่ได้เรียนแค่รักษาหมาแต่เรียนเรื่องสัตว์ทุกประเภท เช่น สัตว์ป่า สัตว์เศรษฐกิจ เช่น วัว ควาย เป็ด ไก่ ให้ชาวบ้าน สัตว์เล็ก ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนที่อนาคตจะระบาดและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ไข้หวัดนก สัตว์จรจัดทั้งหลายก็ยังเป็นปัญหาสำคัญในเมืองใหญ่ที่ยังรอการแก้ไข ซึ่งสัตว์เหล่านี้หากป่วยไข้คงไม่มีใครคิดจะรักษา แม้ไม่มีเจ้าของแต่ก็คือชีวิต ยังรวมไปถึงสัตว์ป่าที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางต่างจากการรักษาสัตว์เลี้ยง เช่น ช้างไทย ซึ่งยังขาดแคลนบุคลากรจำนวนมาก สัตว์เองก็เหมือนคน มีป่วย มีเจ็บ กล่าวได้ว่าอาชีพสัตวแพทย์ก็มีความสำคัญไม่แพ้หมอคนเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น: