วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557

กว่าจะเป็นแอร์ โอสเตส ( Being an Air Hostess )


แอร์โฮสเตส นางฟ้าบนเครื่องบิน" ถ้าลองถามสาวๆ ทั่วโลกถึงอาชีพในฝัน เชื่อแน่นว่า 1 ใน 5 อันดับแรกที่สาวๆ อยากเป็นต้องมีอาชีพแอร์โฮสเตสแน่นนอน เพราะอาชีพนี้นอกจากจะได้แต่งเครื่องแบบสวยๆ มีสวัสดิการ รายได้ดี ยังมีโอกาสได้เห็นโลกกว้างแบบฟรีๆ ด้วย อยากรู้ใช่ไหมว่าหนทางสู่อาชีพแอร์โฮสเตสเป็นอย่างไร และงานของพวกเธอต้องทำอะไรบ้าง

สุตา อิสระ แอร์โฮสเตสของสายการบินไทยจะมาเล่าให้ฟัง สุตาอยู่ในอาชีพแอร์โฮสเตสหรือพนักงานบริการบนเครื่องบินมา 5 ปีแล้ว เธอก็เหมือนเด็กผู้หญิงทั่วไป คือใฝ่ฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตสตั้งแต่เด็ก ประกอบกับมีโอกาสได้นั่งเครื่องบินของการบินไทยไปเที่ยวกับคุณพ่อ ซึ่งเด็กหญิงสุตารู้สึกว่าช่วงเวลาของการอยู่บนเครื่องบินเป็นช่วงที่ประทับใจ พนักงานบนเครื่องให้ความใส่ใจดูแลเด็กผู้หญิงอย่างเธอดีมาก ทำให้เธอรู้สึกดีกับอาชีพแอร์โฮสเตส

“ตอนแรกไม่กล้าบอกใครว่าอยากเป็นแอร์ฯ เพราะรู้สึกว่ายาก แล้วก็เขิน ขี้อาย แต่คุณพ่อก็สังเกตเห็นแล้วว่าเราอยากเป็นแอร์ฯ เพราะพอคุณพ่อจะขึ้นเครื่องบินทุกครั้งพ่อจะถามว่าอยากได้อะไร เราบอกไม่อยากได้อะไรเลย ขอแค่ซองน้ำตาล ซองพริกไทย ของอะไรที่มีโลโก้ของการบินไทย คุณพ่อก็จะเอามาฝากทุกครั้ง คุณพ่อถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ก็บอกคุณพ่อว่าอยากเป็นแอร์ฯ คุณพ่อจะไกด์ให้ว่าต้องเน้นเรื่องภาษา เรียนมัธยมเลยเลือกเรียนสายศิลป์-ภาษา พอเรียนมหาวิทยาลัยก็เลือกนิเทศศาสตร์ เอกโฆษณาประชาสัมพันธ์”

เมื่อเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ความฝันของเธอก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เธอหาข้อมูลการเตรียมความพร้อมตลอดว่า หนทางการเข้าสู่อาชีพแอร์โฮสเตสมีอะไรบ้าง เมื่อทางการบินไทยเปิดรับสมัครจึงไม่พลาดโอกาส

“คุณสมบัติตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนดไว้เราต้องมีเบสิก ก็คือเราต้องมีอายุ ระหว่าง 20-26 ปี จบการศึกษาอย่างน้อยปริญญาตรี ส่วนสูง 160 เซนติเมตรขึ้นไป น้ำหนักก็ต้องสัมพันธ์กับส่วนสูงด้วย สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และที่เราต้องเตรียมคือหัดว่ายน้ำ เพราะจะมีทดสอบให้ว่ายไปกลับ 50 เมตร ภาษาอังกฤษต้องมีผลสอบโทอิคไม่ต่ำกว่า 600 คะแนน ถ้ามีความสามารถภาษาอื่นด้วยบริษัทจะพิจารณาเป็นพิเศษ นอกจากนั้นต้องเตรียมเรื่องบุคลิกภาพด้วย ซึ่งเราต้องอาศัยถามรุ่นพี่ๆ ที่เป็นแอร์ฯได้ว่าต้องทำยังไงบ้าง รุ่นพี่ก็จะช่วยแนะนำว่าต้องแต่งตัวไปยังไง ให้เรียบร้อยดูดีแบบไหน”

เมื่อผ่านมาตรฐานตามที่บริษัทกำหนด ก็กรอกใบสมัครซึ่งเป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ ฉะนั้นจึงต้องเตรียมตัวด้านภาษามาให้ดี ขั้นต่อไปคือการสัมภาษณ์ โดยคณะกรรมการจำนวนหลายคน

“ตื่นเต้นมากวันที่สัมภาษณ์ คณะกรรมการเขาจะสัมภาษณ์ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ จำได้เขาถามว่า ทำไมถึงอยากเป็นแอร์ฯ คนอื่นเขาอาจจะตอบกันว่าอยากท่องเที่ยวแต่สำหรับตัวเองจริงๆ คือเกิดมาก็อยากเป็นแอร์ฯแล้วแอร์ฯเป็นอาชีพในฝัน ตั้งใจไว้ว่าชีวิตนี้จะจะต้องทำให้ได้ ส่วนท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ตามมา มากกว่า”

คำตอบของเธอคงทำให้คณะกรรมการเล็งเห็นในความรักอาชีพนี้ เธอสอบสัมภาษณ์ผ่าน ขั้นต่อมาคือสอบว่ายน้ำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากถ้าเตรียมตัวและฝึกฝนมาแล้ว ต่อจากนั้นคือการตรวจร่างกาย เพราะการงานทำอาชีพนี้หลักสำคัญคือสุขภาพต้องแข็งแรง เพราะนอกจากต้องดูแลตังเองแล้ วยังต้องเป็นคนที่ดูแลช่วยเหลือผู้โดยสารคน อื่นด้วย เมื่อผลการตรวจร่างกายผ่าน ลำดับต่อไปคือการเข้าฝึกอบรม

“สัปดาห์แรกของเราพอเข้ามาปุ๊บต้องเทรนเรื่องเวชศาสตร์การบิน 5 วัน เรียนเรื่องยา การทำคลอด คือสามารถเป็นผู้ช่วยแพทย์ได้ในกรณีที่มีแพทย์อยู่ด้วย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การให้ยาท้องเสีย ท้องอืด หอบกับหืดต่างกันยังไง ลักษณะโรคต่างกันยังไง เทรนตรงนี้ 5 วัน พอเสร็จตรงนี้ก็จะถูกส่งมาฝึกทางด้านความปลอดภัยของแต่ละชนิดเครื่องบิน อุปกรณ์ฉุกเฉินอยู่ตรงไหน ฝึกดับไฟก็ต้องดับไฟจริงๆ ลงน้ำก็ใช้ชูชีพ ใช้ชูชีพยังไง อยู่ยังไง รักษาความอบอุ่นกันยังไง ในกรณีที่เราต้องดำรงชีวิตอยู่ในทะเล กระเป๋ายา อุปกรณ์ฉุกเฉิน แล้วก็ค่อยฟังคำสั่งว่าเราจะไปด้วยกันยังไง ถึงตอนนี้เราจะต้องทำอย่างนี้ๆ นะ ขั้นตอนการให้บริการผู้โดยสาร ในส่วนของอาหารต้องเรียนแม้กระทั่งประโยชน์สมุนไพร โภชนาการ วิธีการประกอบอาหาร อาหารอย่างนี้ประกอบยังไง เพราะบางคนบางศาสนาผู้โดยสารอาจทานไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือบางคนทานมังสวิรัติ ก็ต้องรู้ บางคนทานแป้งสาลีไม่ได้เพราะเลือดจะออกในกระเพาะ ก็จะมีอาหารอีกประเภทสำหรับคนประเภทนั้น รายละเอียดเยอะมาก ถ้าเป็นเครื่องดื่มอย่างเช่นในไวน์แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร เหมาะกับอาหารประเภทไหน กิริยามารยาทก็ต้องฝึก เช่น ไม่ใช้การชี้นิ้วมือ แต่ใช้การผายมือแทน เพราะสุภาพกว่า ซึ่งตรงนี้คุณครูจะสอนมารยาทละเอียดมาก”
การอบรมใช้เวลาทั้งสิ้น 8 สัปดาห์ เมื่อผ่านอบรมแล้วก็จะได้ขึ้นเครื่องจริงๆ เพื่อทดลองงาน เที่ยวบินแรกของสุตาคือพม่า เธอบอกตื่นเต้นมาก งานของเธอบนเที่ยวบินแรกคือการขึ้นไปช่วยงานบริการพี่ๆ แอร์โฮสเตสถือเป็นการสังเกตการณ์ เรียนรู้งาน ไฟลท์สังเกตการณ์จะมีทั้งหมด 4 ครั้งเมื่อบินเสร็จแล้วต้องกลับมาเข้าคลาสเรียนอีก ครูผู้อบรมจะให้แรกเปลี่ยนประสบการณ์กันว่าไปบินแล้วรู้สึกอย่างไง โดยคุณครูจะคอยเพิ่มเติมความรู้ให้ตลอด

หลายคนคงอยากรู้ว่าแอร์โฮสเตสทำงานกันอย่างไง สุตาเล่าให้ฟังว่าพวกเธอต้องมาก่อนไฟลท์ที่จะบิน 2 ชั่วโมงโดยมาพบกันที่สำนักงานกลาง ทุกคนต้องศึกษาว่าวันนี้จะบินไปที่นั่นที่นี่ เวลาต่างกันเท่าไหร่ ต้องรู้ว่ากัปตันครั้งนี้ชื่ออะไร พี่หัวหน้าแอร์คือใคร อินไฟลท์เมเนเจอร์เป็นใคร มีบริการแบบไหน มีเรื่องพิเศษอะไรบ้างมีผู้โดยสารที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษยังไง อาหารที่เสิร์ฟ เครื่องดื่มวันนี้เป็นยังไง นอกจากนั้นทุกคนจะต้องดูวีดีโอเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องนั้นๆ ที่โดยสารเพื่อทบทวนและมีการทดสอบกันอีกทีในห้อง ก่อนที่จะออกไปสนามบินด้วยกัน

“แล้วเราจะต้องมาถึงเครื่องก่อนประมาณ 1 ชั่วโมง พอไปยืนบนเครื่อง คราวนี้จะเป็นเรื่องของการเตรียมการทุกคนที่ได้รับหน้าที่ ว่าใครจะต้องประจำอยู่ ณ ตรงไหน ตรวจเช็กอุปกรณ์ความปลอดภัยของตัวเองให้พร้อม เปลี่ยนชุดเตรียมให้บริการ เช็กอุปกรณ์ทุกอย่าง อุปกรณ์ความปลอดภัยครบมั้ย ห้องน้ำเป็นยังไง อาหารเป็นยังไง อาหารพิเศษของผู้โดยสารที่ต้องดูแลพิเศษมาหรือยัง พอพร้อมแล้วพี่หัวหน้าแอร์ฯจะบอกว่าเตรียมรับผู้โดยสารได้เลย ทุกคนก็จะมายืนประจำเพื่อต้อนรับผู้โดยสาร”

ตลอดทั้งเที่ยวบิน พวกเธอก็ต้องคอยดูแลผู้โดยสารซึ่งใช้กำลังเยอะทีเดียว ทั้งเข็นรถอาหาร เสิร์ฟอาหาร เครื่องดื่ม ดูแลความเรียบร้อย เรียกว่าต้องเดินตลอดการเดินทาง ทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง ฉะนั้นพวกเธอจึงต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ

“ชั่วโมงบินมันนาน ตัวเราเองก็ต้องพักผ่อนให้เพียงพอก่อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความดันอากาศ อากาศที่เปลี่ยนแปลง แล้วเราต้องเดินทางอยู่บ่อยๆ เวลานอนก็ไม่เหมือนคนที่ทำงานประจำ ฉะนั้นเราต้องดูแลตัวเองดีๆ ถ้าไม่ไหวไม่สบาย หรือรู้ตัวว่าตัวเองเป็นหวัด ถ้าเป็นหวัดหูอื้อ ก็จะไม่ไป แต่ถ้ายังขืนขึ้นไปนี่อาการหูบล็อกมันอันตราย จะไม่ไปเลยนะคะ เพราะว่านอกจากไม่ดีกับตัวเองยังไปทำให้เพื่อนร่วมงานเหนื่อยขึ้นอีก ถามว่าเหนื่อยมั้ย ชินแล้ว พอกลับมาเราก็พักผ่อนเต็มที่ ทางบริษัทเขาก็จัดวันหยุดให้เรา ในการที่จะทำการบินแต่ละครั้งนี่บริษัทคำนวณไว้แล้ว เขาจะมีอัตราค่าความเหนื่อยให้ว่าเราจะต้องพักผ่อนเท่านี้เพื่อความปลอดภัย เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันถูกควบคุมด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว เราก็ทำหน้าที่ควบคุมตัวเราเองอีกที เพราะบางทีเราไปในประเทศที่ร้อนจัดแล้วไปประเทศที่เย็น เราก็ต้องเตรียมตัว”

สำหรับ 5 ปีที่ผ่านมากับงานแอร์โฮสเตส สุตาบอกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เพราะได้ทำในสิ่งที่ฝัน ถามเธอว่าจะทำอาชีพนี้ต่อไปอีกไหม เธอบอกคงทำต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่สภาพร่างกายยังแข็งแรงสมบูรณ์

คำในของแอร์โฮสเตส “สำหรับคนที่อยากเป็นแอร์โฮสเตส ขอให้ตอบตัวเองว่าเรารักงานบริการจริงๆ หรือเปล่า เมื่อตอบได้แล้วให้หาข้อมูลให้มากที่สุด หย่าหยุดฝัน ถ้าเรารู้ว่าวันหนึ่งฝันเราเป็นจริงชีวิตมันก็คุ้มค่า อย่าหยุด อย่าท้อ อย่าคิดว่าเป็นแอร์ฯ ต้องสวยหรือเปล่า ต้องเก่งหรือมั้ย ต้องเรียนเมืองนอกหรือเปล่า อย่าไปคิดอย่างนั้น ไม่ใช่เลย ถ้าคุณมีคุณสมบัติกำหนด บริษัทก็พร้อมจะเลือก ซึ่งเขาเลือกคนดี เลือกคนที่มีความตั้งใจ”

สิทธิพิเศษของคนเป็นแอร์ฯ มีรายได้รวมสูงกว่าคนทำงานอาชีพอื่นๆ เข้ามาทำงานใหม่ๆ ก็ได้รายได้ประมาณ 40,000-60,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจำนวนรายได้จะขึ้นอยู่กับตารางบินว่าบินระยะใกล้ไกลแค่ไหน ถ้าบินไกล และค้างคืนหลายวันก็ยิ่งได้มาก เดินทางไปไหนมาไหนแบบฟรี หรือได้สิทธิ์ในการซื้อ ตั๋วเครื่องราคาถูกมาก สมาชิกในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ภรรยา หรือสามี และลูก สามารถใช้สิทธิ์เดินทางซื้อตั๋วราคาถูกหรือไปแบบฟรีได้

ถ้าไม่สบาย หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างการบิน สายการบินจะมีสวัสดิการประกันสุขภาพ สามารถเบิกรักษาพยาบาลได้ทุกแห่งทั่วโลกที่สายการบินมีจุดลง


**ข้อมูลจากหนังสือ ( ขวัญเรือน ) / คอลัมส์ (เส้นทางสายฝัน)

ไม่มีความคิดเห็น: