วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เส้นทางชีวิตของเด็กไทย ใครจะช่วยพาไปถึงฝั่งฝัน


“ในจำนวนเด็ก 10 คน มีเด็ก 6 คน ที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อจบเพียงชั้น ม.6 หรือ ปวช. ส่วนที่เหลืออีก 4 คนที่เข้าสู่รั้วอุดมศึกษา มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่จบแล้วได้งานทำใน 1 ปีแรก!!...วัยรุ่นเหล่านี้เมื่อออกจากรั้วโรงเรียนก็จะต้องกลายเป็น “ผู้ใหญ่” โดยฉับพลัน พวกเขาต้องผจญชีวิตจริง ต้องพึ่งตนเอง ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว และที่สำคัญคือ “ต้องมีงานทำ” คำถามตัวโตก็คือในช่วงเวลา 12-15 ปีที่อยู่ในโรงเรียนเขาได้รับการเตรียมพร้อมเพื่อผจญชีวิตจริงเพียงไร?”
ข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านี้ดูจะเป็นคำถามโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงศึกษาธิการจะต้องขบคิดอย่างหนัก ซึ่งนโยบายปฏิรูปหลักสูตร และปรับกระบวนการเรียนการสอน เพื่อยกเครื่องการเรียนรู้ของเด็กไทยใหม่
นับเป็นนโยบายที่ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งธงเอาไว้เพื่อการปฏิรูปการศึกษาแทนที่จะเป็นการปฏิรูปโครงสร้าง เพราะเชื่อว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างอาจไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็กเสมอไป รวมทั้งการปรับสัดส่วนนักเรียนสายอาชีวะ (วิชาชีพ) กับสายสามัญ จากเดิม 35 ต่อ 65 เป็น 50 ต่อ 50 ก็เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังแรงงานของประเทศ

มาดูรายละเอียดของตัวเลขที่น่าตกใจสำหรับการจัดการเรียนการสอน กับสภาพชีวิตจริงของเด็กไทย จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)โดย ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ นักวิชาการยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนรู้ สสค. ที่ได้วิเคราะห์ถึงเส้นทางชีวิตของเด็กไทยพบว่า แต่ละปีมีเด็กเกิดเฉลี่ย 8 แสนคน ถ้าลองเปรียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นว่าหากประเทศไทยมีเด็ก 10 คนในแต่ละรุ่นที่เกิดปีเดียวกัน เด็กสิบคนนี้จะมีเส้นทางการเดินทางตามระบบการศึกษาไทยโดยเดินไปบนเส้นทางได้ใกล้ไกลแตกต่างกัน
ในจำนวนเด็ก 10 คน จะมีเด็ก 1 คน (หรือร้อยละ 13) เรียนไม่จบ ม.3 (ไม่จบแม้แต่การศึกษาภาคบังคับ) เด็ก 3 คน (ร้อยละ 30) ได้เรียนจนจบ ม.3 แล้วเลิกเรียน เด็ก 2 คน (ร้อยละ 21) เรียนจนจบ ม.6/ปวช. แล้วไม่ได้เรียนต่ออุดมศึกษา เหลือเพียงเด็ก 4 คน (ร้อยละ 36) เรียนต่อขั้นอุดมศึกษา
ดูเผิน ๆ เด็ก 4 คนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยน่าจะมีโอกาสที่ดีกว่ามาก แต่กลับพบสถิติว่าใน 4 คนนี้มีเพียง 3 คนที่เรียนได้จนจบอุดมศึกษา ยิ่งกว่านั้นใน 3 คนที่ใช้เวลาเพิ่มอีก 4-8 ปีนั้น มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ได้งานทำในปีแรกหลังจากจบปริญญา ส่วนที่เหลือ 2 คนจบแล้วต้องว่างงานใน 1 ปีแรก
จะเห็นได้ว่า เด็ก 10 คน มีเด็กมากถึง 6 คนที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อจบเพียงชั้นม.6 หรือปวช. ส่วนที่เหลืออีก 4 คนที่เข้าสู่รั้วอุดมศึกษา กลับพบว่า มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่จบแล้วได้งานทำใน 1 ปีแรก!!
คำถามที่ตามมาคือ เด็ก 6-7 คน ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่อายุเพียง 15-19 ปีแล้วไปไหน?
จากผลการสำมะโนประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2553 ซึ่งมีความละเอียดกว่าการสุ่มตัวอย่างเพราะต้องเดินเข้าไปถามทุกบ้านนั้น รายงานผลลัพธ์ออกมาสอดคล้องกับข้อมูลที่วิเคราะห์ข้างต้นคือประชากรอายุ 15-19 ปี ซึ่งเยาวชนวัยนี้หากอยู่ในระบบก็จะอยู่ระดับมัธยมปลาย ปวช. หรือเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย แต่ในความเป็นจริงกลุ่มนี้มากถึง 1.2 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 4 (ร้อยละ 26) ต้องออกมาทำงานแล้ว โดยมีอาชีพต่าง ๆ ได้ แก่ 1. การเกษตร ป่าไม้ ประมง (41%) 2. งานพื้นฐานเช่น แผงลอย ทำความสะอาด ซักรีด ส่งของ เป็นต้น (17%) 3. พนักงานบริการ/ขาย/เสมียน (15%) 4. วิชาชีพ ข้าราชการ ช่างฝีมือ/เทคนิค (14%) และ 5. ควบคุมเครื่องจักร (7%)
ในขณะที่เยาวชนอายุ 20-24 ปี ซึ่งหากอยู่ในระบบก็จะเป็นระดับอุดมศึกษาหรือสายอาชีพชั้นสูง แต่ผลการสำมะโนประชากรพบว่ากลุ่มนี้ออกมาทำงานจำนวน 2.8 ล้านคน (ร้อยละ 61) ไม่ทำงานจำนวน 1.7 ล้านคน (ร้อยละ 36) ตัวเลขนี้จึงตรงกับตัวเลขเปรียบเทียบเด็กสิบคนข้างต้นว่ามีเพียง 4 ใน 10 คนเท่านั้นที่เรียนต่อ ซึ่งส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้ที่ออกมาทำงานมีอาชีพ ได้แก่ 1) การเกษตร ป่าไม้ ประมง (27%) 2) พนักงานบริการ/ขาย/เสมียน (20%) 3) วิชาชีพ ข้าราชการ ช่างฝีมือ/เทคนิค (18%) 4) อาชีพงานพื้นฐาน เช่น แผงลอย ทำความสะอาด ซักรีด ส่งของ เป็นต้น (14%)  และ 5) ควบคุมเครื่องจักร (11%)
บางท่านเห็นสถิตินี้แล้วอาจรีบเสนอทางออกให้เพิ่มที่นั่งในมหาวิทยาลัยแต่ข้อเท็จจริงนั้นอัตราการเข้าเรียนอุดมศึกษาของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเรียนต่ออุดมศึกษาไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่น ๆ เลย โดยประเทศไทยอยู่ที่ 36% สิงคโปร์ 34% มาเลเซีย 28% ฟิลิปปินส์ 31% และญี่ปุ่น 48% และไม่มีประเทศใดในโลกที่พยายามให้เด็กของตนเข้าเรียนอุดมศึกษาทั้งหมด 100%
ระบบการศึกษาพื้นฐานได้จับเด็กเยาวชนเข้ามาอยู่ในโรงเรียนยาวนาน 12-15 ปี แต่เด็กทุกรุ่นเมื่ออายุ 18 ปี กลับพบว่ามีจำนวนมากถึง 6 ใน 10 คนออกจากระบบการศึกษา และเมื่อออกจากรั้วโรงเรียนก็จะต้องกลายเป็น “ผู้ใหญ่” โดยฉับพลัน ทำให้พวกเขาต้องผจญชีวิตจริง ต้องพึ่งตนเอง ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว และที่สำคัญคือ “ต้องมีงานทำ” คำถามตัวโตก็คือในช่วงเวลา 12-15 ปีนั้นโรงเรียนได้เตรียมให้เด็กพร้อมกับการผจญชีวิตจริงเพียงไร?
บนเส้นทางการศึกษานั้นไม่ว่าเด็กจะใช้เวลาเพียง 12 ปี 15 ปี 19-20 ปี หรือเท่าใดก็ตาม แต่สิ่งที่เขาควรจะได้รับเท่าเทียมกันน่าจะเป็นความพร้อม รวมถึงทักษะจำเป็นที่เขาจะต้องใช้สำหรับการสู้ชีวิต มีอาชีพ พัฒนาตนเอง และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมไทย หากประกอบกับโอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องในวัยทำงานด้วยก็ย่อมจะพิสูจน์ถึงการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตจริง มิใช่เพียงการศึกษาเพื่อศึกษาหรือใบปริญญาเท่านั้น
ล่าสุด สสค. ได้ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรที่มี ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีการประชุมทุกวันเสาร์ เพื่อระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนมาช่วยกันออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่สามารถตอบโจทย์เส้นทางชีวิตของเด็กไทยได้อย่างแท้จริง.
ภมรศรี แดงชัย  Credit http://www.dailynews.co.th/education/196657

ไม่มีความคิดเห็น: