วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เริ่มแล้ว ปี 57 ผลิตแพทย์เพิ่ม ตั้งเป้าเพิ่มอีก 5,001 คน


เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตแพทย์ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยพะเยา ตั้งเป้าผลิตแพทย์ 5 รุ่น เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2556-2560 จำนวน 1,170 คน เพื่อเติมเต็มแพทย์ในระบบและกระจายแพทย์ลงสู่ชนบท
นพ.ประดิษฐเปิดเผยว่า ขณะนี้มีแพทย์ลาออกจากระบบบริการเฉลี่ยปีละ 500 คน สธ.จึงจำเป็นต้องผลิตแพทย์เพิ่มเติมป้อนเข้าสู่ระบบ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 เห็นชอบอนุมัติในหลักการโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ.2556-2560 จำนวน 9,039 คน ประกอบด้วย โครงการผลิตแพทย์เพิ่มของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 4,038 คน และโครงการผลิตแพทย์ชนบทเพิ่มของ สธ. 5,001 คน ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 41,000 ล้านบาท
นพ.ณรงค์กล่าวถึงโครงการผลิตแพทย์เพิ่มของ สธ. ว่า เป็นความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ ศธ. 14 แห่ง เริ่มตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา โดยการคัดเลือกนักเรียนจากพื้นที่ชนบท รับทุน สธ.เพื่อเรียนแพทย์เป็นเวลา 6 ปี และมีสัญญาผูกพันให้กลับไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดในพื้นที่ หลังสำเร็จการศึกษาอย่างน้อย 3 ปี โดยการจัดการเรียนการสอนชั้นปีที่ 1-3 เรียนที่มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ ส่วนชั้นปีที่ 4-6 เรียนที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งจากเดิมมี 34 แห่ง แต่ปัจจุบันมี 37 แห่ง จนถึงขณะนี้มีแพทย์จบจากโครงการนี้ไปแล้ว 3,921 คน
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเริ่มรับนักศึกษาแพทย์เข้าเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 โดย ม.พะเยา 270 คน ม.เทคโนโลยีสุรนารี 720 คน ม.นราธิวาสราชนครินทร์ 180 คน สธ.ได้ตั้งศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกเพิ่มเป็นสถานที่ฝึกงานภาคคลินิก 4 แห่ง คือ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ รพ.พะเยา จ.พะเยา รพ.ชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ และ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส เมื่อสิ้นสุดโครงการในปี 2566 จะมีแพทย์ที่จบจากโครงการนี้เข้าสู่ระบบ 5,001 คน ทำให้สัดส่วนการดูแลของแพทย์ต่อประชาชนดีขึ้น คือ 1 ต่อ 1,500 คน จากเดิม 1 ต่อ 4,837 คน

ไม่มีความคิดเห็น: