วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กองทุน กรอ.เปิดยื่นกู้เรียน 1 แสนทุน


เงื่อนไขไม่ดูรายได้ครอบครัว-ปลอดหนี้ 2 ปี ทำงานกินเงินเดือน 1.6 หมื่นค่อยชำระคืน   
    นายอภิชาติ จีระวุฒิ  เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ฐานะประธานคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สอง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา มีอยู่ 2 กองทุน คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ซึ่งนิสิต นักศึกษาสามารถเลือกกู้จากกองทุนใดก็ได้ แต่วันนี้ก็ยังคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ว่า ถ้าเคยกู้ กยศ.มาก่อนตอนเรียนระดับมัธยมศึกษา เมื่อมาเรียนระดับอุดมศึกษาแล้วต้องกู้ กยศ.ต่อเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะนิสิต นักศึกษาสามารถโยกมา กู้ กรอ.ได้ โดยจะมีอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเท่ากันทั้ง 2 กองทุน และหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติการกู้ ก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน คือ สาขาที่เป็นสาขาขาดแคลนของประเทศ โดยเน้นสาขาทางวิทยาศาสตร์ก่อน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ทิ้งสาขาสังคมศาสตร์ เพราะมีหลายสาขาที่ยังจัดให้อยู่ โดยนิสิต นักศึกษาที่จะขอยื่นกู้สามารถดูรายละเอียดผ่านระบบ e-Studentloan ทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th
     เลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นหลักที่แตกต่างกันระหว่าง 2 กองทุน คือ กยศ.จะมีการกำหนดรายได้ของครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ขณะที่ กรอ.ไม่ดูรายได้ของครอบครัว ส่วนการชำระคืน กรอ.จะใช้คืนก็ต่อเมื่อมีเงินเดือนเกิน 1.6 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วน กยศ.จะมีระยะปลอดหนี้ 2 ปีหลังจบการศึกษาแต่จะไม่พูดถึงรายได้ เพราะฉะนั้นหลังจากการศึกษา 2 ปีก็ต้องจ่ายแต่ถ้ายังไม่มีงานก็ต้องติดต่อเพื่อขอผ่อนผัน ซึ่งทั้งสองกองทุนต่างก็มีจุดเด่นที่นักศึกษาสามารถเลือกกู้ได้
     "อย่างไรก็ตามเนื่องจาก กรอ.เพิ่งเปิดให้นักศึกษากู้ได้ไม่นาน นักศึกษาจึงอาจยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ ทำให้โควตาเหลือเยอะมาก อย่างภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2555 รัฐบาลให้เป้าหมายมา 70,000 คน แต่มีคนมากู้เพียง 17,000 คน สำหรับปีการศึกษา 2556 มีเป้าหมายมาถึง 100,000 คน จึงอยากอยากเชิญชวนให้นักศึกษามายื่นกู้ กรอ.ได้ และตอนนี้ผลแอดมิสชั่นส์ก็ออกมาแล้ว นิสิต นักศึกษาที่ต้องการกู้เงินเรียนควรเตรียมตัวไปยื่นขอกู้เงินได้แล้วโดยเข้าไปศึกษารายละเอียดผ่านระบบ e-Studentloan"นายอภิชาติ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: