วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

"โอเน็ต" เมื่อไหร่จะเข็ดกับคำว่า “พลาด” เสียที!


“โอเน็ต” ดูเหมือนว่าคำนี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า “ผิดพลาด” และ “ขบขัน” ในระบบการศึกษาไทยไปเสียแล้ว เพราะทุกครั้งที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับการสอบโอเน็ต เรื่องราวที่ถูกนำเสนอจะวนเวียนอยู่ไม่กี่เรื่อง คือถ้าไม่พูดถึงความผิดพลาดของระบบ ก็เป็นความฮาของข้อสอบในแต่ละปีที่ถูกเอามาประจานครั้งแล้วครั้งเล่า 
       ครั้งนี้ก็เช่นกัน เกิดเหตุอลหม่าน ข้อสอบผิด-ระบบรวนอย่างไม่น่าให้อภัย จนต้องออกมาแจก 24 คะแนนฟรีๆ ให้เด็กๆ เพื่อปลอบขวัญ แต่กลับกระตุ้นให้สังคมผุดคำถามเดิมๆ ขึ้นในหัวอีกครั้งว่า นี่หรือคือมาตรฐานการศึกษาไทย?!!
       


       
       แอดมิชชัน ทำผิดซ้ำๆ ไม่เคยเข็ด!
       อีกแล้ว!! โอเน็ตผิดพลาดอีกแล้ว!! ล่าสุดระบบผลิตข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ชั้น ม.6 ในวิชาวิทยาศาสตร์เกิดรวน ผลิตข้อสอบงงๆ ออกมาให้เด็กนักเรียนนั่งฝนคำตอบกันแบบหัวฟูเล่นๆ เพราะ ข้อสอบชุดรหัส 200 มีปัญหา ประมาณ 80,000 ฉบับ คือมีโจทย์ที่ซ้ำกัน 16 ข้อ และมีหมายเลขข้อซ้ำกัน 9 ข้อ ทำให้เด็กไม่สามารถฝนคำตอบลงในกระดาษได้ งงงวยไปหมด 
       เมื่อนำมาพิจารณาความเสียหายเป็นคะแนนแล้ว คิดรวมเป็น 24 แต้ม เพื่อไถ่โทษในความผิดพลาดของระบบที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทางสถาบันการทดสอบการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. จึงออกมายอมรับผิดและประกาศแจกคะแนนให้เด็กแอดมิชชันรุ่นนี้ไปฟรีๆ ประมาณ 400,000 คน
        
       
       “ขอโทษที่การจัดสอบมีปัญหา ผมรู้สึกเสียใจทั้งที่ได้พยายามดำเนินการ และตรวจสอบให้ดีที่สุดแล้ว แต่กลับเกิดปัญหา ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากเหตุสุดวิสัย ความประมาทเลินเล่อ หรือเป็นที่ระบบการผลิต ซึ่งหากพบว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อ ผมก็คงต้องปลดหรือเปลี่ยน เพราะคนไม่ดี ผมไม่เอาไว้แน่นอน และหลังจากนี้ ผมใน ฐานะ ผอ.สทศ. ก็มีหน้าที่ที่จะทำให้เกิดความมั่นใจ และเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ซึ่งทั้งหมดก็คงจะต้องพิสูจน์กันด้วยผลงานข้างหน้าในอนาคต และครั้งนี้ก็ถือเป็นบทเรียนที่จะต้องมีการตรวจสอบให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม” รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. ประกาศเอาไว้
         
       
       ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าในอนาคตที่บอกว่าจะระวังนั้น จะมีความผิดพลาดซ้ำรอยเดิมอีกหรือเปล่า แต่เท่าที่ย้อนรอยดูอดีต เห็นได้ชัดว่ามีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่การสอบในปีการศึกษา 2549 ปีที่เปลี่ยนแปลงเป็นระบบแอดมิชชันครั้งแรก ก็มีข้อผิดพลาดจากการประกาศผลสอบเกิดขึ้นจากระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหาเหมือนกัน เป็นครั้งแรกที่ระบบการศึกษาไทยโกลาหลครั้งใหญ่ ทำลายความน่าเชื่อถือหมดลง จนต้องดำเนินการแก้ไข ตรวจข้อสอบปรนัยซ้ำถึง 3 รอบ 
         
       
       ในปีถัดมา ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ชั้น ม.6 ก็พิมพ์ตกหล่นไป เลขยกกำลังหายไปจากบรรทัดที่ควรจะอยู่ จึงแก้ไขด้วยการแจก 2 คะแนนให้เด็กๆ และการแจกคะแนนแบบนี้ ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นประเพณีเพื่อลบล้างความผิดพลาดของระบบไปแล้ว เพราะในปี 2552 ทาง สทศ.ก็ต้องออกมาแจกอีก 2 คะแนน จากข้อสอบวิชาศิลปะชั้น ม.6 ที่ถามเกี่ยวกับความหมายของสี แล้วตีความถูกต้องได้หลายคำตอบ จนถึงข้อสอบวิชาภาษาไทยของชั้น ป.6 ทั้ง 4 ข้อ ที่ถามเกี่ยวกับการเดินทางในกรุงเทพ ทำให้เด็กต่างจังหวัดรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม เรียกร้องขอคะแนน จนต้องแจกไปอีก 16 แต้ม 
         
       
       ล่าสุด เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ข้อสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.3 ที่เพิ่งออกมาก็มีปัญหา กระดาษคำตอบวิชาภาษาไทยไม่สัมพันธ์กับโจทย์คำถามเป็นจำนวน 2 ข้อ ข้อละ 10 คะแนน สทศ. จึงต้องยกประโยชน์ให้นักเรียนไปฟรีๆ อีก 20 แต้ม
         
       ความผิดพลาดของระบบการศึกษาไทยที่มีให้พบเห็นจนชาชิน อาจไม่สะดุ้งสะเทือนความรู้สึกของคนในสังคมอีกแล้ว เมื่อเกิดเหตุแจก 24 คะแนนครั้งล่าสุดจึงอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ในสายตาของผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการศึกษา มองเห็นความผิดพลาดของระบบนี้มาหลายต่อหลายปี บอกเอาไว้เลยว่า ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ แต่ส่งผลร้ายแรงและซับซ้อนกว่าเดิมเยอะ! 
       


        
       
       ใจดีแจกฟรี กี่คะแนนก็ไม่พอ!!
       มองเผินๆ แล้ว การที่ สทศ. ออกมายอมรับความผิดพลาดของตัวเอง และรับผิดชอบด้วยการแจกคะแนนคืนให้เด็กแอดมิชชั่นรุ่นนี้ 24 แต้ม ก็ถือเป็นเรื่องแฟร์ดี แต่ในสายตาของคนที่อยู่กับระบบแอดมิชชั่นมาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงและปลงตกอย่างใกล้ชิดมาตลอดอย่าง นัททยา เพ็ชรวัฒนา ผู้ดำเนินรายการ “เปิดประตูสู่มหาวิทยาลัย” เอฟเอ็ม 101.5 เมกะเฮิรตซ์ เธอบอกได้เลยว่า คะแนนที่แจกให้ แจกยังไงก็ไม่คุ้ม เพราะผลกระทบจากคะแนนฟรีๆ มันหนักหนาสาหัสกว่านั้นหลายเท่า
        
       
       “ที่ผ่านมา ถึงจะผิดพลาดยังไงก็แจกคะแนนไม่มาก แจกแค่ 4-6 คะแนน ที่แจกมากสุดก็ชั้น ม.3 แต่นั่นยังไม่มีผลอะไรเท่าไหร่ เพราะไม่ได้เป็นคะแนนที่เอามายื่นเข้ามหาวิทยาลัยต่อ แต่ครั้งนี้ เป็นความผิดพลาดที่เกิดกับข้อสอบของชั้น ม.6 แล้วคิดดูว่าผิดแค่วิชาเดียว ยังแจกไปแล้วตั้ง 24 คะแนน ซึ่งปกติแล้ว Mean (ค่าเฉลี่ยขั้นต่ำของคะแนนทั้งประเทศ) วิชาวิทยาศาสตร์ จะตกอยู่ที่ 20 ต้นๆ พอแจกไป 24 คะแนน มันก็จะทำให้ Mean ของปีนี้สูงกว่าปกติ และจะทำให้ระบบรวนไปหมด
         
       
       คิดดูว่าถ้าเด็กแอดมิชฯ ปีนี้เกิดซิ่วไปปีอื่น เขาก็ต้องใช้คะแนนโอเน็ตปี 56 ยื่น และเขาก็จะได้เปรียบเด็กแอดมิชฯ ปีอื่น จากความผิดพลาดของระบบในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ด้วย เพราะโอเน็ตสอบได้แค่ครั้งเดียวในชีวิตตอนจบ ม.6 สอบใหม่ไม่ได้ คะแนนโอเน็ตเลยกลายเป็นเงื่อนตายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นคะแนนที่จะติดตัวคุณไปตลอด วิธีแก้ไขวิธีเดียวคือ ต้องเลิกประกาศแจกคะแนนและจัดให้มีการสอบใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
        
       
       ซึ่งถ้าตัดสินใจประกาศสอบใหม่ทั้งประเทศตอนนี้ เธอบอกว่ายังทัน เพราะยังมีการสอบโอเน็ตรอบพิเศษรออยู่ในเดือนมี.ค. แต่มีข้อแม้ว่า ต้องให้ทาง สทศ. ออกมารับผิดชอบจัดสอบครั้งใหม่โดยใช้งบประมาณของตัวเองเท่านั้น เพราะงานนี้เป็นความผิดพลาดของ สทศ. จึงไม่ควรใช้งบประมาณของประเทศ ไม่ควรเบิกงบของรัฐ 
        
       
       “ปัญหาตอนนี้คือเด็กไม่มีต้นแบบของความรับผิดชอบให้เขาเห็นเลย แต่ที่เด็กเห็นจากสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำคือการแจกคะแนน เอาคะแนนปิดปากให้เด็กเงียบ ก็เหมือนกับการแจกเงินให้เงียบนั่นแหละค่ะ เด็กไม่มีตัวอย่างของความรับผิดชอบให้เห็น การแจกคะแนนก็ไม่ต่างอะไรกับการแจกเงิน คนได้ประโยชน์ก็จะอยู่เงียบๆ อย่างเด็กที่ได้ชุดข้อสอบรหัส 100 ก็อาจจะดีใจไป เพราะข้อสอบที่ทำก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แถมได้คะแนนฟรีๆ มาอีก 24 คะแนน 
       ส่วนคนที่เสียผลประโยชน์ก็จะออกมาโวยวาย เด็กที่ได้ข้อสอบรหัส 200 ที่มีปัญหา เขาอาจจะคิดว่าคะแนนที่ต้องเสียไปจากการฝนกระดาษคำตอบข้ออื่นไม่ได้ มันเทียบกันแล้วไม่คุ้ม แต่ถ้าเรายอมเสียเวลา ออกข้อสอบใหม่ สอบกันใหม่หมด ระบบมันก็จะถูกต้อง และแสดงให้เด็กเห็นว่าเมื่อทำเรื่องผิดพลาดขึ้นมา ต้องแสดงความรับผิดชอบได้มากกว่าคำขอโทษ
       
       ที่สำคัญ ต้องถามว่า “โอเน็ต” มีขึ้นเพื่ออะไร? เพื่อต้องการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา 3 ด้าน คือ 1.วัดตัวเด็ก 2.วัดศักยภาพการสอนของโรงเรียน และ 3.วัดมาตรฐานการศึกษาของชาติ แล้วเครื่องมือที่ใช้วัดมาตรฐานการศึกษาของชาติที่ได้มาด้วยการแจกฟรีเนี่ย มันถูกต้องแล้วเหรอคะ? มันเหมือนเวลาคุณจะวัดระดับความรวยความจนของคนทั้งประเทศ แล้วคุณก็เที่ยวเอาเงินไปแจกเขาหัวละ 1 ล้าน คราวนี้จะมาวัดว่าประเทศเรารวยหรือจนแค่ไหน มันวัดได้ไหมล่ะคะ วัดไม่ได้หรอก เราต้องเข้าใจก่อนว่า โอเน็ตมีขึ้นเพื่อวัดมาตรฐานการศึกษาของชาติ ดังนั้น คำว่า “มาตรฐาน” จึงไม่มีแจกฟรีเด็ดขาด” 
       



       
       ข้อสอบฮาเฮ พาขายหน้า
       อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ “เนื้อหาในข้อสอบ” แอดมิชชั่นทุกปีที่จะมีความแปลกประหลาดปนฮา จนกลายเป็นประเด็นล้อเลียน เสียดสีในโลกไอทีหรือแม้กระทั่งสื่อหลักทุกครั้ง ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน เว็บไซต์เด็กดีดอทคอมได้รวมเอาข้อสอบในปีนี้มาเปิดเผยกันเอาไว้ และวิพากษ์วิจารณ์กันไปกลั้วเสียงหัวเราะไปอย่างหนาหู หลายคนปลงตกไปกับข้อสอบ หลายคนสงสารเด็กๆ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของระบบการศึกษา และอีกหลายคนตั้งคำถามกลับว่า คนคิดข้อสอบคือใครและต้องการอะไรกันแน่? โดยเฉพาะตัวอย่างคำถามในข้อนี้ ที่ถูกกล่าวถึงกันลั่นสนั่นโลกออนไลน์ 
        
       
       ข้อสอบวิชาการงาน "สาเหตุที่ชาวยุโรปชอบทานแกงมัสมั่นของไทย คืออะไร?" ก.รสเด็ดเผ็ดจัดจ้าน ข.รสกลมกล่อมคล้ายซุป ค.สีสันสวยสะดุดตา ง.เครื่องเทศหอมครบเครื่อง จ.รสเปรี้ยวเหมือนต้มยำ
       ข้อสอบวิชาศิลปะ "ปลูกฝังความเป็นไทยต้องให้ดูละครเรื่องอะไร?" ก.ขุนศึก ข.สี่แผ่นดิน ค.ดอกส้มสีทอง ง.แรงเงา จ.กี่เพ้า
        
       
       ข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ "เพื่อนที่ไม่ช่วยงานเพื่อนในกลุ่ม เปรียบได้กับความสัมพันธ์แบบใด?" ก.ดอกกล้วยไม้กับต้นไม้ใหญ่ ข.ไรโซเบียมในปมรากถั่ว ค.ไลเคน ง.พยาธิในลำไส้ จ.เหาปลาในฉลาม
       และอีกมากมายหลายข้อที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงและชวนให้สงสัยว่า ถ้าให้เด็กรุ่นเอนทรานซ์กลับไปสอบแอดมิชชั่นตอนนี้ จะยังสอบติด ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการอยู่อีกหรือเปล่า? เพราะดูยังไงๆ ก็ไม่น่าจะใช่เนื้อหาเดียวกับที่เคยร่ำเรียนมา แต่คล้ายว่าจะเป็นปัญหาเชาว์เสียมากกว่า... ช่างน่าขบขันยิ่งนัก
        
       
       “ก่อนจะตั้งคำถามว่าเรากำลังออกข้อสอบเพื่อวัดอะไรเด็ก ผู้ใหญ่ควรจะหันมาถามมากกว่าว่า เราควรจะออกข้อสอบอย่างไรไม่ให้ตลกในสายตาสังคม เพราะข้อสอบที่ออกมาแต่ละปี มันกลายเป็นประเด็นให้หยิบมาหยอกล้อ หัวเราะขบขันกันได้ตลอด ถามว่ามันสะท้อนอะไร ก็สะท้อนกลับไปยังคนออกข้อสอบ และสุดท้ายก็สะท้อนกลับมาถามระบบการศึกษาไทยอยู่ดี 
       การจะเอาเด็กมาเป็นเหยื่อ เป็นตัวแปลบอกว่าระบบการศึกษาดีหรือไม่ดีด้วยคะแนนโอเน็ต มันไม่ถูกต้อง เพราะเด็กเป็นเพียงแค่ปลายน้ำ แต่ต้นน้ำจริงๆ อยู่ที่โรงเรียนและระบบการศึกษา ที่ออกแบบระบบและข้อสอบให้เป็นแบบนี้” นัททยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบแอดมิชชั่นช่วยชี้ทาง
        
       
       “ตั้งแต่ตอนเปลี่ยนจากเอนทรานซ์เป็นแอดมิชชั่นใหม่ๆ เมื่อปี 49 ปีแรกก็ผิดพลาดล้มเหลวเพราะเราเปลี่ยนโดยที่ไม่พร้อม พอจะเริ่มตั้งหลักได้ ก็เปลี่ยน A-Net ออก เอา GAT และ PAT เข้ามาแทน พออะไรๆ เริ่มลงตัวมากขึ้น ปีนี้ก็เปลี่ยนให้มีการออกข้อสอบ 2 ชุดต่อหนึ่งวิชาอีก การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดีถ้ามีความพร้อม แต่นี่เราไม่เคยพร้อมเลย ระบบการจัดการมีปัญหามาตลอด ดังนั้น มาตรฐานที่ล้มเหลวของเราตอนนี้ เกิดขึ้นจาก 2 ทางคือ คุณภาพของการบริหารจัดการระบบ และคุณภาพของข้อสอบ ที่ทำให้มีข้อสอบตลกๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกปี
        
       
       ย้อนกลับไปตอนเปลี่ยนจากเอ็นทรานซ์เป็นแอดมิชชั่น ผู้ประกาศเปลี่ยนระบบให้เหตุผลว่า ระบบเอนทรานซ์ทำให้เด็กเครียด ทำให้เด็กแห่ไปกวดวิชา แต่จากวันนั้น ตั้งแต่ปี 49 มาจนถึงวันนี้ ปี 56 เด็กก็ยังคงเครียดกับระบบแอดมิชชั่นไม่ต่างกัน แถมยังคงกวดวิชามากกว่าระบบเอ็นทรานซ์ด้วยซ้ำ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้พยายามเพ่งมองเท่าไหร่ จึงยังมองไม่ค่อยจะเห็นพัฒนาการของระบบการศึกษาไทยเท่าไหร่เลย
       
       “สุดท้าย จะขึ้นชื่อว่า แอดมิชชั่น หรือ เอนทรานซ์ ก็ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ ควรสอบในช่วงเวลาที่เด็กเรียนหนังสือจบแล้ว ให้เด็กอยู่ในห้องเรียนได้เต็มที่ เรียนจบแล้วค่อยมาสอบ ต้องบริหารจัดการระบบให้มีประสิทธิภาพ และสุดท้าย จะใช้ระบบไหน มันอยู่ได้หมดแหละค่ะ ทุกวันนี้ เด็กๆ ก็ไม่ได้ต่อต้านแอดมิชชั่นนะ แต่เพราะคุณทำให้ระบบการสอบแต่ละครั้งเกิดปัญหา เขาก็เลยต้องออกมาโวยวายกัน เพราะเขางงกันไปหมดแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาไทยกันแน่?!!” 
       
       ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE   http://manager.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น: