ที่ประชุมเห็นชอบยกเลิกการให้คะแนนฟรี ข้อสอบ O-NET ชุด วิทยาศาสตร์ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าไม่สามารถเทียบมาตราฐานการศึกษาได้จึงให้หักข้อผิด 23 ข้อ จาก 90 ข้อออกแล้วคิดคะแนนเต็ม 100 คะแนนจาก 67 ข้อที่เหลือ ซึ่งสทศ.พิจารณาแล้วว่า การกระจายของข้อสอบทั้ง เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ ธรณีวิทยา ดาราศาสตร์ สามารถวัดผลได้เท่าเทียม
ผอ.สทศ กล่าวย้ำ ความผิดพลาดเกิดจากด้านเทคนิค เนื่องจากมี plate เกิดการชำรุด จึงทำให้ข้อสอบ ชุด 200 ผิดพลาด และกำลังเตรียมตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าเกิดจากตัวระบบหรือบุคคล พร้อมกล่าวถ้าเกิดปัญหาลักษณะนี้อีก ตน พร้อมจะผิดชอบ
(15ก.พ.) ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)ศ.เกียรติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) สทศ. พร้อมด้วย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธ์พฤกษ์ ผอ. สทศ. และดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)ร่วมแถลงข่าว"มติบอร์ด สทศ. ในการแก้ปัญหาข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ปีการศึกษา2555 ที่ผิดพลาดซ้ำจนต้องให้คะแนนฟรีกับเด็ก” โดยศ.เกียรติคุณ ดร.สมหวัง กล่าวว่า บอร์ดสทศ.ได้ประชุมกันเมื่อวันที่14ก.พ. ที่ผ่านมา มีมติให้ยกเลิกการให้คะแนนฟรีในวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นม.6 และมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ใช้ทางเลือกในการแก้ปัญหาโดยการตรวจข้อสอบเฉพาะ 67 ข้อที่ไม่ผิดพลาดจากข้อสอบทั้งหมด 90 ข้อ และแปลงคะแนนจากข้อสอบ 67 ข้อดังกล่าวให้เป็น 100คะแนน เพราะเห็นว่าการตัดข้อสอบ 23 ข้อ ที่มีปัญหาออกไปแล้ว ข้อสอบก็ยังเหลือเกินครึ่ง ซึ่งยังสามารถวัดความรู้ความสามารถของเด็กในวิชานี้ได้อย่างเที่ยงตรงและเป็นธรรม อีกทั้งยังสะท้อนหลักวิชาการ สามารถอธิบายได้ตามหลักการวัดผลด้วย จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ศ.เกียรติคุณ ดร.สมหวัง กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหานั้น ได้พิจารณาโดยยึดหลักการ 6 ข้อ คือ 1. ต้องรักษาความยุติธรรมให้กับทุกคน 2.ไม่ทำให้เด็กเสียประโยชน์ 3. ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการนำคะแนนไปใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัยและการประเมินสถานศึกษา 4.ไม่เป็นภาระหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับนักเรียน 5.การแก้ปัญหาต้องใช้ผลเทียบเคียงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาและการใช้ต่อไปในอนาคต และต้องสะท้อนคุณภาพมาตรฐานของโรงเรียนตามหลักการของโอเน็ต และ 6.ต้องสอดคล้องกับหลักการวัดผล อย่างไรก็ตามเพื่อให้สาธารณะชนเกิดความมั่นใจว่าเราจะไม่ปล่อยเรื่องนี้ผ่านไปจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยจะคัดเลือกจากบุคคลภายนอก และมีความน่าเชื่อถือ เข้ามาทำหน้าในการตรวจสอบข้อผิดพลาดของระบบ ให้ข้อเสนอแนะ และการวางระบบป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า สำหรับส่วนกรณีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากข้อสอบผิดพลาดในครั้งนี้ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกิน50,000คนและหากนักเรียนต้องการจะสอบใหม่ก็ให้แจ้งความประสงค์ พร้อมแสดงหลักฐานยืนยันจากทางศูนย์สอบและทางสทศ.จะพิจารณาเป็นรายบุคคล หลังจากนั้นจะให้มาสอบพร้อมกับกลุ่มเด็กที่ขาดสอบจากเหตุสุดวิสัย ในวันที่6-7มีนาคม โดยจะไม่คิดเงินค่าสมัครสอบ
"การให้บุคคลภายนอกมาตรวจสอบระบบก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคม หากยังเกิดปัญหาทางเทคนิคเช่นนี้ขึ้นอีก ผมจะขอแสดงความผิดชอบ ส่วนที่มีการยกเลิกการให้คะแนนฟรีกับเด็ก เพราะบอร์ดเห็นว่าการให้คะแนนฟรี ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการเทียบเคียงมาตรฐาน เพราะปีนี้คะแนนโด่งผิดปกติ ซึ่งจะไม่เป็นธรรมกับเด็กอื่นๆ และไม่สามารถบอกถึงมาตรฐานของสถานศึกษา ดังนั้นทางเลือกที่ให้คะแนนฟรีจากข้อสอบที่ผิดพลาด 23 ข้อ จึงอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง ผมจึงต้องยึดมติบอร์ด เพราะมติบอร์ดถือว่าสูงสุดแล้ว” รศ.ดร.สัมพันธ์
ด้าน ดร.ชินภัทร กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องสุดวิสัย และระดับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นยังอยู่ในระดับที่รับได้ ดังนั้นการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในปีการศึกษา 2556 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ยังยืนยันจะใช้คะแนนโอเน็ตเป็นส่วนประกอบการพิจารณาคัดเลือกเข้าเรียน และจบช่วงชั้นต่อไป
ฟังข่าววิทยุ http://www.mcot.net/site/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น