คุณเป็นนักกินประเภทไหน
คุณกินเพราะหิวใช่ไหมล่ะ ? ต่อให้สารภาพอย่างตรงไปตรงมาแค่ไหน ก็ไม่ควรใช้เหตุผลทื่อมะลื่อขนาดนี้ บางครั้งเรากินเพื่อเข้าสังคม กินเพราะเครียด กินเพราะเศร้าสุดหัวใจ หรือเพราะเบื่อสุดขี แทบร้องกรี๊ด การทำความเข้าใจว่า ทำไมเราถึงกินเวลาที่ไม่หิว จะช่วยให้ควบคุมน้ำหนักตัวเองได้ มาดูซิว่า คุณมีสไตล์การกินแบบไหนกันแน่ และมีเคล็ดลับของแถมที่จะช่วยให้คุณจัดความสมดุลในการกินได้ไม่ยาก
1. นักกินผู้ไม่คงเส้นคงวา
เป็นประเภทอยากกินอาหารเพื่อสุขภาพอันดีอยู่หรอก แต่ทำไม่ได้ซักที เรียกว่ามีเจตนาดี เพียงอยากปรับปรุงโภชนาการอาหาร แต่ไลฟ์สไตล์ทำให้ยากจะปฏิบัติ มักกินอาหารอย่างรีบร้อน โดดข้ามมื้อไปแล้ว ฉวยอะไรก็ได้เข้าปาก ทำงานพลางกินพลาง บางครั้งปล่อยท้องว่าง จนหิวตาลายกินไม่ยั้งในมื้อถัดไป คุณมีแนวโน้มที่จะกินของจุบจิบ แทนที่จะเป็นมื้ออย่างเป็นเรื่องเป็นราว มักอาศัยแค่ชา กาแฟ หรือช็อกโกแลตสักแท่ง (หรือสามแท่ง)
หลุมพราง : รูปแบบการกินอันไม่คงที่ ทำให้กินจุมากเกินควร และมักเป็นอาหารประเภทไขมัน หรือน้ำตาลสูงอีกด้วยแล้ว การกินขณะสนใจเรื่องอื่นอยู่หมายถึง ร่างกายไม่ได้รับรู้ปริมาณอาหารที่กิน ซึ่งส่งผลให้กินปริมาณมากเกินความต้องการ
เคล็ดลับในการอยู่รอด:
- หมั่นดูแลตัวเองให้กินอาหารเช้าที่มีสุขภาพดี ไขมันต่ำ มีกากใยสูง พกของว่างที่มีประโยชน์ติดตัวไว้เผื่อเวลาหิวหน้ามืดขึ้นมา จะได้หยิบมาประทังชีวิตให้อยู่รอดได้อย่างมีสุขภาพดี เช่น ผลไม้แห้ง กล้วยหอม โยเกิร์ต
- หาเวลานั่งกินอาหารโดยไม่ทำอย่างอื่นเลย ปิดสวิตช์เรื่องงานให้หมด เมินโทรศัพท์ แล้วมุ่งสมาธิไปสู่การกินสถานเดียว
- เลิกราความคิดว่าจะงดอาหารมื้อใด ลองปรุงอาหารไขมันต่ำดูว่าชอบแบบไหน แล้วหมั่นดูแลให้แน่ใจว่า มีเครื่องปรุงตุนไว้ที่บ้านเสมอจะได้ทำเองได้ทุกเวลาไม่มีข้ออ้าง
2. นักกินเจ้าอารมณ์
เป็นพวกกินสนองอารมณ์ เช่น รู้สึกสุข เศร้า กระวนกระวาย โกรธหรือเบื่อหน่าย ความรู้สึกเครียด หรืออึดอัด ล้วนชักนำไปสู่การกิน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจขึ้นมาได้ โดยเฉพาะเวลาอยู่ตามลำพัง นักกินแบบนี้มักมีอารมณ์ไม่ดีอยู่เสมอ ทำให้ต้องกินมากขึ้น (เพื่อให้อารมณ์ดี) กินแล้วมีน้ำหนักเพิ่มพรวด ซึ่งส่งผลให้รู้สึกย่ำแย่มากเข้าไปอีกเป็นลูกโซ่
หลุมพราง : คุณมักดึงดูดเข้าไปหา "อาหารปลอบใจ" คือ อาหารประเภทมีไขมัน และน้ำตาลสูง คุณไม่สามารถควบคุมนิสัยการกินของตัวเองได้ ทำให้หิวหน้ามืด กินเพียบเกินงาม
เคล็ดลับในการอยู่รอด:
- จดไดอารี่บันทึกรายการอาหารที่กินเข้าไป เพื่อช่วยให้จับประเด็นสถานการณ์ หรือจับความรู้สึกอันเป็นตัวการที่ทำให้กินมากเกินไป โปรดดูว่า คุณสามารถบ่งชี้ความรู้สึกในทางลบได้หรือไม่ เมื่อรู้ว่าคืออะไร แล้วหาเวลาพัฒนากลยุทธ์รับมือสู้ด้วยวิธีการแบบที่ไม่เกี่ยวพันกับการกิน โปรดจำไว้ว่าถ้าคุณไม่ช่วยตัวเอง ก็จะไม่มีใครช่วยได้ ถ้าสาเหตุที่แท้จริงของการกินจนน้ำหนักเพิ่มพรวดคือ เรื่องงาน มิตรภาพ หรือความสัมพันธ์ที่ไปไม่รอด โปรดอย่ากลัวที่จะลุยสู้ก้าวต่อไป
- ทำรายการสิ่งอื่น ๆ ที่คุณกระทำได้แทนที่จะกินลูกเดียว เพื่อรับมือกับความรู้สึกไม่สบายใจ ลดความเครียดด้วยการแช่น้ำในอ่าง หรือไปนวดตัว ระบายความรู้สึกโกรธด้วยการเขียนจดหมายถึงคนที่ทำให้คุณโกรธ (ไม่จำเป็นต้องส่งจดหมายหรอก) ดูหนังเศร้าแล้วร้องไห้ให้ตาบวม
3. นักกินแสนใจลอย
คุณมีชีวิตยุ่งเหยิงมาก ซึ่งทำให้ไม่ใส่ใจเรื่องการกินให้มีสุขภาพดีเลยสักนิด แม้ใจจะอยากทำอยู่หรอก และโดยรวม ๆ ก็กินดีพอประมาณ มักยืนกิน หรือกินไปทำอะไรไป คุณยอมรับว่าหยิบขนมปังมากินแก้หิวที่ทำงาน บางครั้งก็กินของเหลือจากลูก หรือแฟน หรือทำกับข้าวไปชิมไป แต่คุณเชื่อว่าตัวเองต้องป่วยเป็นอะไรผิดปกติขึ้นมาสักอย่างแน่ ๆ ถึงได้อ้วนเอา ๆ เพราะไม่ได้กินอะไรมากมายเลยนี่นา
หลุมพราง : คุณไม่ได้สังเกตปริมาณแคลอรี่ที่ตัวเองกินเข้าไป แคลอรี่จึงเพิ่มพูนทบทวี โดยที่คุณไม่ทันตระหนักถึงโภชนาการอาหารของคุณ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่มีอยู่รอบตัว ดังนั้นคุณอาจกิน กิน กิน เพียงเพราะอาหารอยู่ใกล้มือตอนนั้น
เคล็ดลับในการอยู่รอด:
- สัญญากับตัวเองว่า ตลอดสี่สัปดาห์ข้างหน้า คุณจะไม่ทำอะไรตอนกิน ห้ามใจไม่ให้กินช็อคโกแลตตอนดูโทรทัศน์ หรือขับรถยนต์ ทุกครั้งที่กินอะไร ต่อให้เป็นของว่างชิ้นเล็กแค่ไหน ให้ใช้เวลารื่นรมย์กับอาหารนั้นอย่างเชื่องช้า เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลารับรู้แคลอรี่ที่กินเข้าไป คุณจะได้ไม่กินจุเกินไป
- จัดเวลากินอาหารให้เป็นเรื่องใหญ่ โดยให้สมาชิกทุกคนในบ้านนั่งร่วมโต๊ะกันพร้อมหน้า
- จำกัดโอกาสที่คุณจะกินไปทำงานไป อย่าเก็บของว่าง เช่น ขนมปังกรอบ หรือช็อกโกแล็ตเอาไว้ใกล้มือทั้งที่ทำงาน ที่บ้าน และในรถเป็นอันขาด
- จำกัดตัวเองให้กินอาหารวันละสามมื้อ ถ้าหิวระหว่างมื้อให้กินผลไม้
4. นักจำกัดอาหารตัวยง
คุณอาจตัดอาหารบางอย่าง หรือลองโภชนาการอาหารใหม่ ๆ แต่สักพักก็เลิกรา หันมากินอาหารที่อดไปนาน โดยเฉพาะเวลาเครียด คุณอาจโหดกับตัวเองเรื่องการกิน และมักชอบติเตียนตนไม่หยุดหย่อน คุณรู้ดีว่ากุญแจขานไขไปสู่การลดน้ำหนักระยะยาวคือ การกินอาหารให้สมดุล และออกกำลังกาย แต่ก็ยังอดปักใจเชื่อไม่ได้ว่า การจำกัดอาหารอย่างแข็งขันนั้น ส่งผลให้คุณมีหุ่นในฝันขึ้นมาได้
หลุมพราง : การตัดทอนอาหารบางอย่างออกไป ชักนำไปสู่โภชนาการอาหารที่ไม่สมดุล ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ร่างกายคุณตอบสนองต่อแคลอรี่ต่ำที่ได้รับ ด้วยการปรับปรุงความสามารถในการเก็บกักไขมันเอาไว้ เพื่อว่าเมื่อคุณหันมากินแบบปกติอีกครั้ง คุณจะมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าเก่า
เคล็ดลับในการอยู่รอด:
- เปลี่ยนแนวทางการจัดการเรื่องน้ำหนักในรูปแบบใหม่ ลืมเรื่อง "ไดเอต" แล้วเน้นที่การกินอย่างมีสุขภาพดีระยะยาว และทำกิจกรรมที่ใช้กำลังกายอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมงทุกวัน
- กินอาหารน้อยลงในมื้ออาหาร และเลือกผักผลไม้เป็นส่วนใหญ่
- ความหลากหลายคือ ก้าวแรกของการไดเอตอย่างมีสุขภาพดี ให้ทำรายการอาหารที่คุณตัดออกไป หรือไม่ชอบ โดยดูว่ามีอันใดที่อาจหวนกลับไปกินใหม่ได้อีก อาจลองปรับปรุงด้วยวิธีแตกต่างจากเดิม หรือกินร่วมกับอาหารอื่น ๆ ที่คุณชอบให้พอกล้อมแกล้มไปได้
- ตลาดสด และซูเปอร์มาร์เก็ตล้วนมีผลไม้ และผักให้เลือกหลากหลายชนิด ลองเลือกดูชนิดใหม่ ๆ มาลิ้มลองเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์แก้เบื่อ
- ลืมเรื่องอาหารว่า "ดี" หรือ "ไม่ดี" ไปเสีย จำไว้ว่าอาหาร (ไม่ว่าจะเป็นชีส พิชซ่า หรือช็อกโกแล็ต) นั้น ไม่เป็นไร ตราบเท่าที่กินปริมาณน้อย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น