วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

จบ ดร.วัยเพียง 23 ความท้าทายกับการศึกษาที่ไร้ขีดจำกัด

จบ ดร.วัยเพียง 23 ความท้าทายกับการศึกษาที่ไร้ขีดจำกัด
จ่าอากาศเอก ดร.สุวินท์ รักสลาม
       การศึกษาที่ไร้ขีดจำกัดและเปิดโอกาสอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อ ดร.หนุ่มลูกพ่อขุนฯ พิสูจน์ความเก่งและความท้าทายใช้ความมุ่งมั่นจบปริญญาสามใบจากรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ล่าสุดจบปริญญาเอก สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยความภาคภูมิใจวัยเพียงแค่ 23 ปี พร้อมนำดุษฎีนิพนธ์ไปพัฒนางานจนคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาคนและพัฒนางานจากกองทัพอากาศด้วย
      
       จ่าอากาศเอก ดร.สุวินท์ รักสลาม ปัจจุบันเป็นช่างอากาศยาน หมู่ซ่อม อากาศยาน1 หมวดซ่อมอากาศยาน1 ฝ่ายสนับสนุนการซ่อมอากาศยานและเครื่องยนต์ แผนกช่างอากาศ กองเทคนิค กองบิน6 กองทัพอากาศ ผู้ยึดมั่นในหลักคิด “ฟ้าอาจลิขิตชะตาชีวิตเราได้ แต่สิทธิในการเลือกใช้ชีวิตอยู่ในมือเรา”
       

       จ่าอากาศเอก ดร.สุวินท์ เรียนจบชั้น ม.ต้นจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยระบบ Pre-degree เมื่ออายุ 15 ปี ไปพร้อมกับการเรียนที่โรงเรียนจ่าอากาศ เหล่าช่างอากาศ สาขาวิชาช่างอากาศยาน จบเมื่อปี 2551 มาสมัครเป็นนักศึกษารามคำแหง ระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ โดยใช้เวลาเรียนเพิ่มอีก 1 ปี จบเมื่อปี 2552 จากนั้น ศึกษาต่อระดับปริญญาโท จนสำเร็จศิลปศาสตร มหาบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจและกฎหมาย ม.รามคำแหง เมื่อปี 2553 และศึกษาต่อระดับปริญญาเอก จนสำเร็จปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ม.รามคำแหง เมื่อปี 2556 ด้วยวัยเพียงแค่ 23 ปี
      
       จ่าอากาศเอก ดร.สุวินท์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นทางการศึกษาว่า การวางแผนชีวิตของตนเองเริ่มจากสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ คือ“นางสุวรรณา รักสลาม” ท่านมีความประณีตในการอบรมและขัดเกลานิสัย ท่านกล่าวกับผมเสมอว่า “ในอดีตท่านใฝ่ฝันที่จะเรียนหนังสือสูงๆ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่างที่ไม่เอื้ออำนวยจึงส่งผลให้ไม่สามารถทำตามความฝันได้ทั้งหมด ท่านจึงอยากให้ผมเรียนให้สูงที่สุด” นั่นคือจุดเริ่มต้นในการวางอนาคตด้านการเรียนของผม ขณะที่ผมเรียน ม. 4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมกับคุณแม่ทราบข่าวเรื่อง Pre-degree จึงตัดสินใจเรียนคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้หวังผลมากนัก หลังจากจบ ม.4 ผมก็ย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนจ่าอากาศ ศึกษาในหลักสูตรช่างอากาศเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นผมก็ได้ใช้เวลาระหว่าง สี่ทุ่มถึงเที่ยงคืนทุกวันในการอ่านหนังสือ ทั้งในส่วนของรามคำแหงและวิชาชีพที่ผมเรียน
       ส่วนคุณแม่จะเป็นผู้ช่วยวางแผนการลงทะเบียนเรียนและจัดตารางสอบ รวมถึงการจัดหาหนังสือของรามฯมาให้อ่านโดยตลอด เนื่องจากโรงเรียนจ่าอากาศเป็นโรงเรียนประจำ ผมจึงสามารถกลับบ้านได้เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น แต่ด้วยความพยายามผลักดันของคุณแม่ ทุกหน่วยกิตที่ผมสอบจึงสำเร็จได้
 
จบ ดร.วัยเพียง 23 ความท้าทายกับการศึกษาที่ไร้ขีดจำกัด
ดร.กับคุณแม่
       นอกจากนี้ หลังจากที่เรียนจบโรงเรียนจ่าอากาศ จ่าอากาศเอก ดร.สุวินท์ เล่าว่า ตนได้รับผลตอบแทนของความอดทนและความพยายาม "ผมสามารถสอบได้ลำดับที่ 1 ของเหล่าช่างอากาศซึ่งเป็นเหล่าหลักที่ใหญ่ที่สุดของโรงเรียนจ่าอากาศ ผมยังได้รับทุนการศึกษานักเรียนดีเด่นจากผู้บังคับการโรงเรียนจ่าอากาศ และได้รับประกาศนียบัตรผู้ที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมจากผู้บัญชาการทหารอากาศ รวมถึงยังสามารถสะสมหน่วยกิตหลักสูตร Pre-degree คณะรัฐศาสตร์ได้100กว่าหน่วยกิตเป็นรางวัล” 
       

       ดร.หนุ่มคนเก่ง เล่าต่อว่า หลังจากนั้นใช้เวลาเพียง 1 ปี เทียบโอนและเรียนต่อปริญญาตรีจนจบตอนอายุ 18 ปี และเลือกเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาการบริหารรัฐกิจและกฏหมาย เพราะเป็นวิชาที่ชอบ และมีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เวลาเรียนประมาณ 2 ปี ก็จบปริญญาโทตอนอายุ 20 ปี
      
       “จุดสานฝันครั้งสำคัญ เกิดขึ้นเมื่อผมได้รับคำแนะนำจาก รศ.ดร.นวลละออ แสงสุข เกี่ยวกับคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผมจึงมีความสนใจและปรึกษากับคุณแม่ ซึ่งคุณแม่ก็เห็นชอบด้วย จึงไปติดต่อสอบถามที่คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสมัครเข้าเรียนทันที ตอนสอบเข้าผมก็ได้รับโอกาสจากท่านอาจารย์และผู้บริหารของคณะให้สามารถเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกได้ โดยใช้เวลาศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี จนสำเร็จการศึกษาตอนอายุ 23 ปี ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้นจึงเป็นผลพวงมาจากการเปิดโอกาสทางการศึกษาและไม่จำกัดทางด้านอายุของ ม.รามคำแหงในหลักสูตร Pre-degree ความสำเร็จในชีวิตจึงเกิดขึ้นจากการผลักดันและการสนับสนุนจากคุณแม่ รวมถึงการหยิบยื่นโอกาสของผู้บริหาร และคณาจารย์ของม.รามคำแหง”
       

       สำหรับผลงานดุษฎีนิพนธ์ที่สร้างสรรค์ขึ้น คือ เรื่อง “รูปแบบการจัดการความรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกองบิน 6” เป็นการนำเสนอกรรมวิธีในการยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของกองทัพอากาศ ในสาขาการใช้เครื่องมือ KM ซึ่งกองบิน 6 ได้รับรางวัลชนะเลิศการจัดบอร์ดนิทรรศการ ประเภท KM และรางวัลหน่วยงานที่มีการส่งเสริมการจัดการความรู้ยอดเยี่ยม จากกองทัพอากาศ เป็นผลมาจากความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาระหว่างผมและกองบิน 6 โดยนวัตกรรมที่เกิดขึ้นสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคน และพัฒนางานได้จริง และปรากฎผลอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง ยังสามารถเป็น Role model ให้กับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาศักยภาพในทุกๆด้านที่จำเป็นแก่ข้าราชการกองทัพอากาศ
 
จบ ดร.วัยเพียง 23 ความท้าทายกับการศึกษาที่ไร้ขีดจำกัด
       “ผมเลือกเรียนรามคำแหงทั้งสามปริญญา เพราะรูปแบบการศึกษาของ ม.รามคำแหงเป็นตลาดวิชา สอนให้นักศึกษามีความรับผิดชอบต่อตนเอง โดยช่วงเวลาที่เรียนปริญญาเอก ผมจะตั้งใจฟังประสบการณ์ที่อาจารย์แต่ละท่านถ่ายทอด เพราะเชื่อว่าประสบการณ์เป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดต่อการเรียนรู้ จากนั้นจึงมาศึกษาเนื้อหาในหนังสือหลายๆเล่มเพื่อเชื่อมโยงกับคำพูดของอาจารย์ ประกอบกับไฮไลท์ และข้อความสำคัญมาสร้าง Model, Mind maps ของตนเองที่เข้าใจง่าย และสรุปเนื้อหาทั้งหมดได้อย่างครอบคลุม
       

       เมื่อถึงเวลาสอบก็จะนำโมเดลดังกล่าวมาทบทวนควบคู่กับข้อความสำคัญในหนังสือ ส่วนตอนทำดุษฎีนิพนธ์ จะต้องมีการวางแผน และจัดตารางเวลาอย่างชัดเจน และที่สำคัญที่สุด คือจะต้องมีวินัยในการปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำดุษฏีนิพนธ์ผมได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษา กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงาน รวมถึงการสนับสนุนจาก ดร.เปรมกมลย์ และดร.ณัชชารีย์ ทินกร ณ อยุธยา และเจ้าหน้าที่ของคณะฯอย่างดียิ่ง”
       

       ดร.วัย 23 กล่าวด้วยความยินดีว่า ความสำเร็จในชีวิตวันนี้ ผมขอขอบคุณรามคำแหงที่ปลูกฝังด้านวิชาการ ความรู้ และประสบการณ์ทั้งจากคณาจารย์ที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจนประกอบกับมีการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมโดยตลอด ด้านคณาจารย์ผมประทับใจกับการสละเวลาในการให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการทำดุษฏีนิพนธ์ซึ่งได้รับความกรุณาจาก รศ.ดร. บุญมี พันธุ์ไทย เป็นอย่างมาก ทั้งยังได้มีโอกาสรู้จักเพื่อนใหม่ เพื่อนต่างวัย เรียนรู้ลักษณะนิสัยท่ามกลางความหลากหลายทั้งในด้านอายุ ประสบการณ์ และทัศนคติในแต่ละบุคคลด้วย
      
       “ก้าวมาถึงวันนี้เรียนจบปริญญาเอกแล้ว สิ่งต่อไปคือการนำความรู้ไปพัฒนางานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพราะความรู้ทุกอย่างมีลักษณะเป็นสหวิทยาการ คือสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ซึ่งบางครั้งเราอาจแทบไม่รู้ตัวว่าเรากำลังใช้มันอยู่ เช่น ด้านธุรกิจผมอาจนำเอาศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปใช้ในการพัฒนาความรู้ ทักษะ หรือการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ร่วมงานให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ
       

       ขณะเดียวกันก็อาจนำหลักรัฐศาสตร์ในด้านการจัดการองค์กรมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกลไกขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือแม้กระทั่งการทำธุรกิจต่างๆก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฏหมาย ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมจะมีการศึกษาในด้านกฏหมายต่อไป”
       

       จ่าอากาศเอก ดร.สุวินท์ กล่าวว่า ตนภูมิใจที่มีแม่อันประเสริฐที่คอยสนับสนุน เคี่ยวเข็ญ และเป็นกำลังใจให้มาตลอด ซึ่งสุดท้ายผมไม่เพียงแค่สร้างฝันของผมให้เป็นจริง หากแต่ผมยังช่วยสานฝันของคุณแม่ให้สำเร็จอีกด้วย แม้ว่าปัจจุบันคุณแม่จะไม่มีโอกาสชื่นชมความสำเร็จกับฝันที่เป็นจริงของผมและแม่ที่ร่วมกันสร้าง แต่ผมอยากให้แม่รู้ว่า “แม่ส่งผมถึงฝั่งฝันแล้ว” และนับจากนี้ผมจะดำเนินชีวิตตามครรลองของคุณแม่ต่อไป นอกจากนี้ ผมยังภูมิใจที่ได้มีโอกาสรับประสบการณ์จากคณาจารย์ทุกท่าน และผมภูมิใจที่ได้รับการถ่ายทอด “เลือดรามฯ” ที่สามารถพลิกโฉมชีวิตและให้ที่ยืนที่ดีในสังคม และนำพาให้ผมได้พบเจอกับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มีความจริงใจอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: