วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ข้อมูลสำคัญก่อนตัดสินใจเข้ามหาลัย/15 มหาวิทยาลัยเอกชนถูกร้องเรียนไร้คุณภาพ

มหา'ลัยดังสอนนอกที่ตั้งไร้คุณภาพ สกอ.สั่งปิด เร่งตรวจสอบวิทยาลัยยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยมีคุณภาพจริงหรือไม่ ประเดิมเชือด 16 ม.เอกชนเปลี่ยนสถานภาพไม่เกิน10 ปีและถูกร้องเรียนก่อน
วันนี้(5พ.ค.)รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)  เปิดเผยว่า ในการประชุม กกอ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางและวิธีการติดตามตรวจสอบคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่เปลี่ยนประเภทจากวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัย จากที่เริ่มตั้งแต่ปี 2527จนถึงปัจจุบันมีสถาบันที่เปลี่ยนประเภทจำนวน 35 แห่ง เพื่อดูว่าสถาบันได้ดำเนินการอย่างมีคุณภาพมาตรฐานตามแผนที่เสนอมาหรือไม่ โดยกำหนดให้ดำเนินการประเมินคุณภาพมาตรฐานฯ  ทั้งนี้การติดตามผลครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการจับผิดสถาบัน แต่ติดตามเพื่อตรวจสอบคุณภาพ ช่วยปรับปรุง หากทำดีจะมีการยกย่องด้วย
ด้าน ศ.ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า  เบื้องต้นการการติดตามและประเมินคุณภาพมาตรฐานสถาบันที่เปลี่ยนประเภทมาเป็นมหาวิทยาลัยแล้วไม่เกิน 10 ปี และถูกร้องเรียนเรื่องของคุณภาพมาตรฐาน จำนวน 15 แห่งก่อน ได้แก่ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชธานี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยปทุมธานี มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น มหาวิทยาลัยเนชั่น มหาวิทยาลัยธนบุรี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น สถาบันรัชภาคย์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ มหาวิทยาลัยตาปี และมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา  หากพบว่าสถาบันที่ไปตรวจสอบมีปัญหาเรื่องคุณภาพจริงตามที่ถูกร้องเรียน เบื้องต้นมหาวิทยาลัยจะต้องเสนอแผนปรับปรุงและดำเนินการแก้ไขตั้งแต่ 1 ภาคการศึกษาขึ้นไปแต่ไม่เกิน 2 ภาคการศึกษาหรือ 1 ปี หากยังไม่ได้คุณภาพตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)กำหนด ก็ต้องให้งดรับนักศึกษาทันที  หรือเพิกถอนการรับรองวิทยฐานะ หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต อย่างไรก็ตามส่วนสถาบันที่เหลืออีก 20 แห่งจะดำเนินการติดตามและตรวจสอบในระยะต่อไป

    “การดำเนินการติดตามตรวจสอบ เพื่อมุ่งการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษา โดยยึดหลักความเป็นธรรม โปร่งใส มีหลักฐานข้อมูลตามสภาพจริง และมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ โดยจะพิจารณาข้อมูลตามแผนดำเนินงานที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้เสนอขอไว้ อาทิ ข้อมูลการจัดการศึกษามีความสอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลพื้นฐานและแผนยุทธศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และข้อมูลการประกันคุณภาพภายในของสถาบันนั้นๆ ในรอบปีที่ผ่านมาว่าเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามนั้นมหาวิทยาลัยก็ต้องจัดทำแผนเสนอขอปรับปรุงมายัง สกอ.”ศ.ดร.ทศพร กล่าว
          ศ.ดร.ทศพร กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบผลการตรวจประเมินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งที่ได้ดำเนินการตรวจประเมินไปวันที่ 20-31 มี.ค. 2557 จำนวน 5  สถาบัน 6  ศูนย์ 15 หลักสูตร  ผลการตรวจประเมินอยู่ในระดับผ่าน  2 หลักสูตร คือหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต  สาขาวิชาการจัดการ และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต ของสถาบันรัชต์ภาคย์ ณ อาคารรัชภาคย์ (นครศรีธรรมราช ระดับต้องปรับปรุง  2 หลักสูตร คือหลักสูตรทันตแพทยสาสตรบัณฑิต  มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ( วัชรพล )  และหลักสูตรศิลปสาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ศูนย์องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  และระดับไม่ผ่าน  11 หลักสูตร ดังนี้

1.หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต  ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.สมุทรสาคร
2.หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการบริหารนานาชาติ  ศูนย์บัณฑิตศึกษา อาคารสาทรซิตี้ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.)
3. หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการสร้างตัวแบบและการพัฒนาธุรกิจ  ศูนย์บัณฑิตศึกษา อาคารสาทรซิตี้ มม.
4.หลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา อาคารรัชภาคย์ สถาบันรัชต์ภาคย์ จ.นครศรีธรรมราช
5.หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต อาคารรัชภาคย์ สถาบันรัชต์ภาคย์ จ.นครศรีธรรมราช 
6.หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา สถาบันรัชต์ภาคย์  จ.สกลนคร
7 หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ศูนย์องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา(มร.สส.)
8 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์  ศูนย์องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี  มร.สส.
9. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการบิน (นานาชาติ) ศูนย์องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี มร.สส.
10.หลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ (การบัญชี) ศูนย์องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี  มร.สส. และ
11. หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์(การจัดการภาครัฐและเอกชน) มร.สส.
ทั้งนี้สำหรับหลักสูตรที่ สกอ. ไม่รับทราบจะต้องงดรับนักศึกษาทันที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับนักศึกษาที่เรียน โดย สกอ.จะนำรายชื่อหลักสูตรที่สกอ.ไม่รับทราบแจ้งให้นักศึกษารับทราบทางเว็บไซต์ของสกอ. เพื่อให้นักเรียนได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนสมัครเข้าเรียนด้วย
อ้างอิง http://www.dailynews.co.th/  และ http://www.manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: