วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

'มศว'วิจัยคะแนน'แกท-แพท-โอเน็ต'มีผลต่อการเรียนในมหา'ลัยหรือไม่

 'มศว'วิจัยคะแนน'แกท-แพท-โอเน็ต'มีผลต่อการเรียนในมหา'ลัยหรือไม่
              มศววิจัยคะแนนแกท-แพท-โอ

มศว วิจัยคะแนนแกท-แพท โอเน็ตสูง มีผลต่อการเรียนในมหาวิทยาลัยหรือไม่ 9 เดือนรู้ผล เตือนผู้บริหารอย่าสรุปหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการสอบโดยไม่แจ้งเด็กก่อนล่วงหน้า
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า จากที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้เสนอให้จัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ให้เหลือ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคม โดยตัด 3 กลุ่มสาระวิชาคือศิลปะ พลศึกษา และสุขศึกษา ซึ่งตอนนี้สังคมต่างตั้งคำถามมากมายว่าการที่ สทศ.จะประกาศหรือเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดต่างๆ นั้นต้องดำเนินการล่วงหน้า 3 ปีคือประกาศอะไรต้องนึกถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นั่นคือ นักเรียน ไม่ใช่คิดจะเปลี่ยนจะปรับอะไรก็เปลี่ยนตามอำเภอใจ แล้วบอกว่ามันคือวิธีการที่ดีแล้ว แก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เด็กเครียดเพราะต้องสอบถึง 8 รายวิชา
การไปพูดคุยกับเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองเพียงกลุ่มหรือสองกลุ่มแล้วมาสรุปปรับเปลี่ยนวิธีการสอบ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในภาพกว้างที่จะเกิดขึ้น และไม่มีการเตรียมตัวมาก่อนล่วงหน้า คิดว่าวิธีการนี้ควรจะถูกปรับเปลี่ยนด้วย จึงเสนอต่อ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่า มศว ซึ่งมีสำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา ที่มีความชำนาญด้านการออกข้อสอบและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับด้านการออกข้อสอบ โดยเสมอให้ มศว วิเคราะห์ข้อสอบแกท (GAT)ความถนัดทั่วไป และ แพท (PAT) ความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ ซึ่งจะวิเคราะห์โครงสร้างของข้อสอบ แกทและแพท ว่ามีพลังในการแยกแยะคนเก่งเพื่อเข้าเรียนได้จริงไหม คนที่สอบข้อสอบแกท-แพทได้ในคะแนนที่สูง เมื่อเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยจะเรียนได้ดีหรือไม่ และคนที่ได้คะแนนแกท-แพทต่ำเมื่อเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยมีผลการเรียนเป็นอย่างไร เพื่อจะช่วยในการตัดสินใจว่า คนที่ได้คะแนนแกท-แพทสูง แต่เมื่อเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย มีผลการเรียนไม่ต่างไปจากคนที่ได้คะแนนแกท-แพทต่ำ
ทั้งนี้ ผลการวิจัยจะช่วยบอกว่า ต้องมีตัวชี้วัดอื่นๆ ที่บอกให้รู้ว่าผลคะแนน แกท-แพทไม่ได้สำคัญที่สุด แต่มีตัวชี้วัดอื่นๆ เข้ามาสนับสนุนด้วย และทำให้เห็นโครงสร้างของข้อสอบ แกท และแพท ที่ใช้วัดความรู้ความสามารถของเด็กว่าเหมาะสมจริงหรือไม่
นอกจากนี้ มศว จะทำงานวิจัยเพิ่มเพื่อดูว่าผลคะแนนของนักเรียนที่สอบ ONET เพื่อดูว่าคนที่มีคะแนนONETสูง เมื่อมาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจะมีคะแนนสูงหรือไม่ หรือคนที่ได้คะแนน ONET ไม่สูงหรืออยู่ในเกณฑ์ต่ำ เมื่อมาเรียนในมหาวิทยาลัยผลการเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ใช้ในการพิจารณาว่าวิชาที่ใช้สอบในข้อสอบ ONET ควรเป็นอย่างไร 5 กลุ่มสาระเพียงพอไหม หรือเพิ่มเป็น 8 กลุ่มสาระวิชาเช่นเดิม การพูดหรือจะเปลี่ยนแปลงอะไรนั้นต้องพูดจากข้อมูลและต้องมีผลวิจัย รองรับ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มีผลต่อผู้คนจำนวนมากต้องทำอย่างรอบคอบ
สำหรับงานวิจัยของ มศว ใช้เวลาทั้งสิ้น 9 เดือน คาดว่าสิ้นปี 2558 ผลการวิจัยทั้งหมดจะถูกนำเสนอต่อสังคม และนำเสนอต่อ ทปอ.ต่อไป เมื่อมีข้อมูลในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นการช่วยในการตัดสินว่า เราจะออกแบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบไหน เป็นการช่วยเหลือนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทุกคน และเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย.

ข้อมูล-สำนักข่าวไทย/ภาพประกอบจาก 
http://m.kku.ac.th/

ไม่มีความคิดเห็น: