วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เส้นทางสู่ นักธรณีวิทยา(Geologist)


- นักธรณีวิทยา คือ ใคร ทำงานเกี่ยวกับด้านไหนได้บ้าง

อาชีพ หรือวิชาชีพนักธรณีวิทยานั้น ถือว่าเป็นวิชาชีพแบบหนึ่ง เหมือน ๆ กับ วิศกร หมอ ทนายความ ครับ และเป็นอาชีพที่มีการเรียนการสอนมานานตั้งแต่สมัยโบราณ จากด้านชาวตะวันตก แต่ว่าชาวไทยปัจจุบันนั้นยังรู้จักกันน้อยอยู่ครับ

คำว่าธรณีวิทยาในภาษาอังกฤษคือ Geology มาจากภาษากรีก γη- (เก-, โลก) และ λογος (ลอกอส, ถ้อยคำ หรือ เหตุผล)

ธรณีวิทยา เป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับโลก สสารต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของโลก เช่น แร่ หิน ดินและน้ำ รวมทั้งกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในโลก ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ตั้งแต่กำเนิดโลกจนถึงปัจจุบัน เป็นการศึกษาทั้งในระดับโครงสร้าง ส่วนประกอบทางกายภาพ เคมี และชีววิทยา ทำให้รู้ถึงประวัติความเป็นมา และสภาวะแวดล้อมในอดีตจนถึงปัจจุบัน ศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายใน และภายนอกที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นผิว วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ตลอดจนรูปแบบ และวิธีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติ มาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกด้วย

นักธรณีวิทยาศึกษาพบว่าโลกมีอายุประมาณ 4,500 ล้านปี (4.5x109 ปี) และเห็นตรงกันว่าเปลือกโลกแยกออกเป็นหลายแผ่น เรียกว่าแผ่นเปลือกโลก แต่ละแผ่นเคลื่อนที่อยู่เหนือเนื้อโลกหรือแมนเทิลที่มีสภาวะกึ่งหลอมเหลว เรียกกระบวนการนี้ว่าการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก นอกจากนี้ นักธรณีวิทยายังทำหน้าที่ระบุตำแหน่งและจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แหล่งหิน แหล่งแร่ แหล่งปิโตรเลียมเช่น น้ำมันและถ่านหิน รวมทั้งโลหะอย่างเหล็ก ทองแดง และยูเรเนียม

วิชาธรณีวิทยา มีความเกี่ยวข้องกับหลากหลายสาขาวิชา เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ มีการบูรณการความรู้จากหลากหลายวิชา เพื่อวิเคราะห์หาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลก โดยสามารถแบ่งออกเป็นหลากหลายสาขาวิชา เช่น ธรณีวิทยากายภาพ (Physical Geology) ธรณีวิทยาโครงสร้าง (Structural Geology) ธรณีวิทยาแปรสัณฐาน (Geotectonics, Tectonics) ตะกอนวิทยา (Sedimentology) ธรณีสัณฐานวิทยา (Geomorphology) ธรณีเคมี (Geochemistry) ธรณีฟิสิกส์ (Geophysics) ธรณีอุทกวิทยา (Geohydrology) บรรพชีวินวิทยา (Paleontology) เป็นต้น


การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกวิชาธรณีวิทยานอกโลก ศึกษาองค์ประกอบทางธรณีวิทยาของวัตถุในระบบสุริยะ อย่างไรก็ตาม ยังมีศัพท์เฉพาะอื่น ๆ ที่ใช้เรียกธรณีวิทยานอกโลก เช่น "ศศิวิทยา" (selenology) ศึกษาธรณีวิทยาบนดวงจันทร์, areology ศึกษาธรณีวิทยาบนดาวอังคาร เป็นต้น

วิชาธรณีวิทยา สามารถตอบปัญหาต่างๆ มากมาย ที่เกี่ยวข้องกับ วิวัฒนาการของโลก ดาวเคราะห์ และ จักรวาล ธรณีพิบัติภัย ภูเขาไฟ แผ่นดินไหว รอยเลื่อน สึนามิ อุทกภัย น้ำท่วม น้ำหลาก การกัดเซาะ ดินถล่ม หลุมยุบ ภูเขา แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร ทะเลทราย ไดโนเสาร์ ซากดึกดำบรรพ์หรือบรรพชีวินหรือฟอสซิล บั้งไฟพญานาค ไม้กลายเป็นหิน ถ่านหิน น้ำมัน ปิโตรเลียม เชื้อเพลิง แหล่งแร่ เหล็กไหล อุลกมณี โลกศาสตร์
ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki

เห็นไหมครับว่านักธรณีวิทยามีความสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ก็สามารถอธิบายได้ด้วยความรู้ด้านธรณีวิทยา ซึ่งเกี่ยวกับโลกใบนี้ทั้งหมดครับ และในด้านการทำงานสามารถนำไปประยุกต์ได้หลากหลายด้านด้วยครับ



 เส้นทางสู่นักธรณีวิทยานั้นต้องทำอย่างไรบ้าง เรียนอะไรบ้าง

เนื่องจากวิชาธรณีวิทยานั้นถือว่า เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือมีการนำเอาความรู้วิทยาศาสตร์ด้านอื่น ๆ ได้แก่ ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมคณิตศาสตร์ มาใช้ในการอธิบายเกี่ยวกัยโลกของเรา ดังนั้นนักธรณีวิทยาจึงถือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ครับ

ดังนั้นผู้ที่จะมาเรียนวิชาธรณีวิทยานั้น จะต้องเป็นผู้ที่ศึกษามาด้านสายวิทย์ - คณิต ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายครับ หลังจากจบชั้นม.6แล้ว ก็จะมีการสอบเอ็นทรานซ์(สมัยนั้น) เพื่อเลือกเข้าเรียนคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ

การเข้าเรียนนั้นนักเรียนจะต้องเลือกเข้าเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ เพราะธรณีวทยานั้น เป็นภาควิชาหนึ่งในคณะวิทยาศาสตร์ และภาควิชาธรณีวิทยานั้นมีการเรียนการสอนอยู่ไม่กี่มหาวิทยาลัยเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมด มหาวิทยาลัยเอกชนนั้นไม่มีการเรียนการสอนในด้านนี้ แรกเร่มนั้นธรณีวิทยามีสอนอยู่แค่ 3 มหาวิทยาลัยเท่านั้น ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(เป็นภาควิชาเทคโนโลยีธรณีวิทยา) ปัจจุบันมีการสอนเพิ่มอีก 2 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ครับ เห็นไหมครับนี่คือข้อได้เปรียบของการด้านนี้ เพราะมีคนที่จะได้เรียนนั้นไม่มากเท่าไหร่

ตอนเข้าเรียนปี 1. ซึ่งเป็นปีแรกของการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น ทุกคนจะได้เรียนรวมกันหมดในคณะวิทยาศาสตร์ ยังไม่มีการแยกสาขาวิชา โดยการเรียนคณะวิทยาศาสตร์นั้นบางวิชาก็จะเรียนรวมกันหมดทั้ง แพทย์ พยาบาล วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทั้งหมด พอเข้าปีที่ 2. จึงค่อยมีการเลือกสาขาวิชาที่เราจะเรียน ซึ่งช่วงนี้มีความสำคัญมาก เพราะว่าคณะวิทยาศาตร์นั้นมีสาขาวิชาต่าง ๆ ให้เลือกเรียนถึง 13 สาขาวิชา เช่น ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วัสดุศาสตร์ ธรณีวิทยา อัญมณีวิทยา เคมีอุตสาหการ คณิตศาสตร์ สถิติ ชีวเคมี เป็นต้น ซึ่งใครจะเลือกเรียนด้านไหนนั้นก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคล เพราะการเรียนการสอนนั้นแตกต่างกัน และการทำงานก็ต่างกัน

ส่วนธรณีวิทยานั้น หลัก ๆก็จะเป็นการเรียนการสอนในภาคทฤษฏีในห้องเรียน แต่ที่แตกต่างจากสาขาอื่นก็คือ ยังมีการเรียนในภาคสนามด้วยในบางวิชาที่ต้องออกสำรวจในพื้นที่จริงด้วย ดังนั้นนักธรณีวิทยาจึงได้มีโอกาศเดินทางอยู่บ่อยมาก

สิ่งที่จะได้พัฒนาขึ้นอยางชัดเจนในการเรียนธรณ๊วิทยา คือ ภาษาอังกฤษ เพราะตำราสมัยก่อนนั้นเราเรียนมาจากชาวตะวันตกเป็นคนคิดค้นมาก่อน อาจารย์ที่สอนในยุคบุกเบิกก็สอนแบบทับศัพท์เลย ตำราเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษ บางรายวิชาก็เชิญอาจารย์จากต่างประเทศมาสอน จึงได้ภาษามาด้วยอีกขั้นหนึ่ง

หลังจากเรียนมาแล้วจนครบหลักสูตร นักธรณีวิทยาก็จะแยกย้ายกันไปทำงานในด้านต่าง ๆ ในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การสำรวจเหมืองแร่ต่าง ๆ รับราชการในกรมทรัพยากรธรณี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมน้ำ กรมพลังงานทหาร เป็นต้น นอกจากนี้ก็เป็นบริษัทเอกชน มหาชนต่าง ๆ หรืองานในต่างประเทศก็มีงานด้านนี้รองรับอยู่

มีภาพบรรยากาศการเรียนการสอนโดยการออกภาคสนามในพื้นที่จริง ในปีที่ 2 กำลังจะขึ้นปีที่ 3 มาให้ดูครับ ในช่วงที่ทุกคนปิดเทอมกันอยู่นั้น เป็นช่วงที่เรานักศึกษาธรณีวิทยาจะได้ออกภาคสนามกันครับ มีอยู่ 2 รายวิชา คือตอนปี 2 กับตอนปี 3 ครับ

ตอนปี 2 หลังจากเรียนกันแล้ว เราก็จะได้ออกภาคสนาม โดยถือเป็นรายวิชาหนึ่ง เราจะได้เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อเรียนรู้ธรณ๊วิทยาประเทศไทย โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนเต็ม ได้เดินทางไปตามจังหวัดต่าง ๆ สนุกสนานเพราะถือว่าเป็นการได้ไปเที่ยวด้วยครับ






ปีที่ 3 หลังจากเรียนแล้ว ช่วงปิดเทอมก็จะมีอีกวิชาที่ต้องไปออกภาคสนามครับ โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจการทำแผนที่ธรณีวิทยา ในเขตภาคต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นอยู่ทางภาคเหนือ รุ่นผมนั้นอาจารย์ได้กำหนดให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจัดเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ 4 คน ชาย2 คน หญิง 2 คน แล้วเราก็จะต้องไปพักในพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านเป็นเวลา1 เดือนครับ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก และน่าประทับใจ

วัน ๆ อยู่กับธรรมชาติ กลางป่าเขาลำเนาไพร ครับ ดังนั้นนักธรณีวิทยาจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงเสมอทั้งกายและใจครับ บางครั้งเหนื่อยมากก็ต้องปีน ไต่เขากันครับ อาหารการกินทำกันเอง ที่พักก็พักที่โรงเรียนในหมู่บ้านนั้นๆ ซึ่งค่อนข้างไม่เจริญหน่อยครับ คลื่นโทรศัพท์นั้นไม่มีแน่นอน 

ไม่มีความคิดเห็น: